แบ่งปันข้อคิดที่ได้รับจากการอ่าน ความคิดเห็นที่แสดงออก เป็นความอิสระทางความคิด ไม่มีเจตนาโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อ หรือกระทำตาม
วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
ยุทธศาสตร์ชาติไทย
"Good people will be remembered as a blessing, but the wicked will soon be forgotten."
Proverbs 10:7
ผมเขียนเรื่อง Thailand 4.0 ต่อเนื่องกันจนมาจบที่ความห่วงใยว่าประเทศไทยจะเดินไปสู่อนาคตอย่างไรในตอนที่แล้ว ด้วยความกังวลว่า เมื่อเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Disruptive Technology เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เกือบทุกสิ่งทุกอย่าถูกพลิกโฉมหน้าไปหมด เทคโนโลยีใหม่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดกระบวนการทำงานใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ สมองกล หุ่นยนต์อัจฉริยะ และการมีอินเตอร์เน็ตอยู่ในทุกแห่งหนในทุกสิ่งทุกอย่าง จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิต แลัวเราจะปรับตัวอย่างไร? ตัวอย่างง่ายๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา คือการใช้บริการรถTaxi ซึ่งนับวันคนจะนิยมเรียกใช้บริการรถTaxi ผ่าน Application บนโทรศัพท์มือถือซึ่งสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ราคาไม่แพง และคนขับรถมีความรู้ หน้าตาไว้วางใจได้กว่ารถTaxi คาดสีต่างๆ เวลานี้คนขับรถTaxi แบบเดิมตามเมืองใหญ่ๆทั่วโลกกำลังเจอปัญหาเดียวกัน คือผู้โดยสารลดลง
ยิ่งได้ฟังคุณสุทธิชัย หยุ่น สัมภาษณ์ เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ในรายการ Timeline แล้ว ยิ่งทำให้เห็นภาพน่าสะพรึงกลัวที่กำลังจะเกิดขึ้นในระบบอุตสาหกรรมการเกษตรของ ประเทศไทย เมื่อ Disruptive Technology กำลังรุกคืบเข้ามาในระบบการเกษตรอุตสาหกรรมไทย โรงเรือนเลี้ยงไก่ของบริษัท กำลังจะนำหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์มาทดแทนการใช้แรงงานคน เพราะ เจ้าหุ่นยนต์อัจฉริยะที่จะนำมาใช้ในโรงเรือนเลี้ยงไก่เครื่องนี้ มันทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการ หยุด ลา มาสาย ไม่บ่นนินทาด่าเจ้านาย ไม่ขอขึ้นค่าแรง ไม่มีค่าล่วงเวลา และยังทำงานได้แม่นยำ สัตย์ซื่อ หุ่นยนต์เลี้ยงไก่สามารถตรวจไก่ทุกตัวในโรงเรือนเลี้ยงไก่ ว่าขาดน้ำ ขาดอาหาร ป่วยไม่สบาย หรือ ตายได้ โดยสามารถบันทึกตำแหน่งที่ตรวจพบ และรายงานได้ทันที ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีกว่าคนที่มี ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปตามลักษณะนิสัย และ อารมณ์ของคนแต่ละคนในแต่ละวัน แต่หุ่นยนต์ อัจฉริยะ1 เครื่องที่ลงทุนซื้อมาสามารถทำงานแทนคนเลี้ยงไก่ได้หลายสิบคน แล้วคนที่ตกงานเหล่านี้ จะทำอย่างไรต่อไป
Thailand 4.0 เป็นแนวความคิด เป็นทิศทางที่ประเทศไทยต้องเดินไปสู่อนาคต เพื่อความอยู่รอดของประเทศ และทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นๆ ถ้าคนไทยไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่ช่วยกันคิด ไม่ช่วยกันทำ ไม่ช่วยกันเปลี่ยนแปลง อนาคตของประเทศไทยคงไม่แตกต่างจาก Taxi โบราณที่ถูก taxi รูปแบบใหม่แย่งรายได้ หรือ เหมือนพนักงานเลี้ยงไก่บริษัทที่ถูกหุ่นยนต์อัจฉริยะ แย่งงานไป
การจะเดินไปสู่อนาคตตามแนวคิด Thailand 4.0 มียุทธศาสตร์กำกับเส้นทางการเดิน 6 ประการคือ
1.ความมั่นคง
เป็นเรื่องลำบากของประเทศเล็กๆอย่างประเทศไทยที่จะอยู่อย่างปลอดภัยไร้การแทรกแซงทางอำนาจของประเทศมหาอำนาจ สงครามในประเทศซีเรียที่ทำให้ชาติล่มสลายในเวลานี้ เป็นตัวอย่างของการแย่งชิงควบคุมพื้นที่ของมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย โดยประเทศซีเรียตกเป็นสมรภูมิทดสอบประสิทธิภาพอาวุธและยุทธวิธีการรบของมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย ในด้านความมั่นคง ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงศักยภาพของกองทัพให้มีขีดความสามารถในการป้องกันตนเองสูงสุด เพื่อป้องกันการคุกคามจากภายนอก แต่ความมั่นคงของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับทั้งความเข้มแข็งทางการทหารแต่ประการเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางการเมือง และความเข้มแข็งของภาคประชาชนด้วย ที่จะร่วมกันทำให้การ เมืองของประเทศมีเสถียรภาพ ซึ่งจะเป็นการป้องกันและลดการคุกคามจากภายนอก รวมทั้งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในประชาคมอาเซียนและโลก เพราะความมีเสถียรภาพของประเทศ คือความปลอดภัยของการค้าและการลงทุน คือความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย
2. สร้างความสามารถในการแข่งขัน
เราได้ยินคำพูดว่าประเทศไทยติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางจากท่านนายกรัฐมนตรีบ่อยๆ ในยุทธศาสตร์ชาติฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดเป้าหมายของประเทศที่จะทำให้คนไทยโดยเฉลี่ยแล้วมีรายได้ $13,000 ต่อคนต่อปี เพิ่มจากปัจจุบันที่ประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยที่ $5,814 ต่อคนต่อปี คือเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ซึ่งดูเหมือนมากมหาศาล แต่ถ้าเราดูรายได้เฉลี่ยในปัจจุบันของประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยที่ $52,888 ต่อคนต่อปี ประเทศบรูไนมีรายได้เฉลี่ยที่ $ 30,554 ต่อคนต่อปี และประเทศมาเลเซีย มีรายได้เฉลี่ยที่ $ 9,768 ต่อคนต่อปี จะเห็นได้ว่ารายได้ที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ในอนาคตยังห่างไกลจากรายได้ของคนสิงคโปร์ในปัจจุบันอีกมาก ดังนั้นถ้าประเทศไทยจะมีรายได้มากขึ้นตามที่ต้องการ เราจะต้องทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น คือคนไทยต้องมีความรู้ทักษะ ความสามารถสูงมากขึ้น ในยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นี้ได้ตั้งความหวังว่าจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเข้าไปอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก ซึ่งในปี 2016 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 28 จากจำนวน 61 ประเทศทั่วโลกจากการจัดอันดับของสถาบัน IMD World Competitiveness Center โดยมีประเทศสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 4 และประเทศมาเลเซียอยู่อันดับที่ 19
3. การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
ความสามารถในการแข่งขันของประเทศอยู่ที่คุณภาพของคน และคุณภาพของคนอยู่ที่การศึกษา ประเทศสิงคโปร์คือตัวอย่างจริงใกล้บ้านที่สัมผัสได้ เพราะระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สามารถสร้างคนสิงคโปร์ให้มีคุณภาพ มีความรู้ ทักษะ ความสามารถและมีศักยภาพในการแข่งขันสูง ทำให้สิงคโปร์ ประเทศเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย แม้แต่น้ำดื่มยังต้องซื้อจากประเทศมาเลเซีย แต่คนมีรายได้เฉลี่ย$52,888 ต่อคนต่อปี การศึกษาจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันที่จริงประเทศไทยมีนักการศึกษาที่สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจาก มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร นั่งบริหารงานในกระทรวงศึกษาธิการจำนวนไม่น้อย แต่เหตุใดเราถึงประสบความล้มเหลวในระบบการศึกษาของประเทศ คะแนนการสอบจาก PISA ปีล่าสุด นักเรียนจากประเทศเวียตนามได้คะแนนแซงประเทศไทยไปแล้ว มีเพียงคำตอบเดียวในเวลานี้ คือ จำเป็นต้องทำการปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการของไทยเป็นการด่วน เพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาให้เด็กไทยมีความรู้ความสามารถสอดรับกับทักษะที่ต้องการในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามกระแสคลื่นการเปลี่ยนแปลงของ Disruptive Technology ที่กำลังมาแรงในเวลานี้
เป้าหมายอีกประการหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติฉบับใหม่คือทำให้คนทุกช่วงวัย มีสุขภาวะที่ดี มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต คนสูงวัยมีความสุข มีรายได้พอเพียงในการดำรงชีวิต ปัญหาเรื่องสุขภาพของคนไทย กำลังเป็นปัญหาที่สะสมใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนไทยขาดความเข้าใจและขาดวินัยในการป้องกันรักษาสุขภาพและชีวิตของตนเอง เรายังใช้วิถีชีวิตที่บั่นทอนสุขภาพและเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตตนเองอย่างเป็นปกติ ทำให้เรามีค่าใช้จ่ายในเรื่องการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นมหาศาลทุกปี มากจนโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งมีหนี้ท่วมตัว และถ้าจำนวนประชากรผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นจนประเทศไทยกลายเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอีกไม่นานนี้ ประเทศไทยจะยิ่งมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น
4. การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Distribution of wealth) เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจเปิดทั่วโลกที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมทางด้านเศรษฐกิจที่คนกลุ่มน้อยใน สังคมซึ่งมีอำนาจทางเศรษฐกิจใช้ความได้เปรียบสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่มีความอ่อนแอกว่าทางเศรษฐกิจสูญเสียการสร้างความมั่งคั่งลงเรื่อยๆ ทำให้สังคมเกิด ช่องว่างทางเศรษฐกิจที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันนี้ มหาเศรษฐีและเศรษฐีไทย มีช่องว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกับคนจนไทยอย่างมหาศาล เพราะคนไทยที่เป็นคนรวยสุดๆจำนวน 10% ของประเทศ มีรายได้มากเท่ากับ 36.81% ของรายได้คนทั้งประเทศ ในขณะที่คนไทยที่จนสุดๆจำนวน 10% ของประเทศกลับมีรายได้เท่ากับ 1.06% ของรายได้คนทั้งประเทศเท่านั้น
ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายถึงการทำให้ทุกคนรวยเสมอภาคกัน หรือทำให้ทุกคนต้องจนเท่าเทียมกัน แต่ขอเพียงทำให้สัดส่วนของช่องว่างความแตกต่างทางเศรษฐกิจ ลดลง และแคบลง ถ้าทำให้คนจนสุดๆ 10 % ของประเทศมีรายได้เท่ากับ 10% ของรายได้ของคนทั้ง ประเทศ พวกเขาก็จะเป็นคนจนที่อยู่ดีกินดีได้ เช่นกันถ้าคนรวยสุดๆ10% ของประเทศมีรายได้เท่ากับ 10% ของรายได้ของคนทั้งประเทศ พวกเขาก็ยังคงเป็นมหาเศรษฐีรวยสุดๆของไทยอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ความมั่งคั่งของพวกเขาถูกเกลี่ยเฉลี่ยให้คนชั้นกลางและคนจนมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ชีวิต ความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศดีขึ้น และสังคมไทยน่าจะมีสันติสุขมากขึ้น
5. การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศบนพื้นฐานการเอาทรัพยากรธรรมชาติไปใช้อย่างขาดสำนึก ขาดการวางแผน ขาดยุทธศาสตร์ ทำให้ประเทศไทยมีมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่ตระกูล แต่ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆของประเทศถูกทำลายย่อยยับ ป่าไม้บนภูเขาประเทศไทยถูกทำลายเปลี่ยนไปเป็นภูเขาหัวโล้น กลายเป็นไร่กระหล่ำ ไร่ข้าวโพด ไร่ผลไม้ กลายเป็นรีสอร์ทการท่องเที่ยว สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลงจากที่เคยมีเกิน 50% ลดลงเหลือ 20% ทำให้เรามีปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง น้ำท่วม ดินถล่มและหมอกควันเกิดขึ้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่คนไทยต้องจ่ายเพิ่มขึ้นทั้งโดยส่วนตัวและโดยงบประมาณของประเทศจำนวนมหาศาลในแต่ละปี แต่บริษัทที่ได้รับประโยชน์เต็มๆจากการใช้พื้นที่ป่าไม้ไปทำธุรกิจเกษตรไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลย ในยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นี้ได้ตั้งเป้าหมาย ให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นเป็น 40% ของพื้นที่ประเทศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ ลดลง 20-25%
6. การปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
ระบบการทำงานของราชการไทยเป็นปัญหาของการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด ถ้าประเทศไทยมีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ ข้าราชการมีจิตใจรับใช้ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ประเทศไทยวันนี้คงเจริญอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ เพราะตอนที่รัฐบุรุษ ลี กวย ยู ก่อตั้ง ประเทศสิงคโปร์นั้น ประเทศไทยมีความเจริญมากกว่าประเทศสิงคโปร์ด้วยซ้ำไป นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของคน และ ปราบคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง จนทำให้ ประเทศสิงคโปร์เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด ในขณะที่ผู้นำประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่อง "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" คนไทยเลยพากันขายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเอาเงินมาใช้บันดาลสุขให้แก่ตนเอง ผู้นำรัฐบาลในเวลาที่ผ่านมาสร้างความนิยมโดยนโยบายการสร้างความสุขให้กับประชาชนโดยให้ความสำคัญเรื่อง "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีเงินใช้ ไร้โรคา" ทำให้เกิดการทุ่มงบประมาณลงทุนสร้างโครงสร้างปัจจัยพื้นฐานขนาดใหญ่ตลอดเวลา 60 ปีที่ผ่านมา และโครงการก่อสร้างทั้งหลายเป็นบ่อเกิดของการคอร์รัปชัน และระบาดไปทุกวงการมาจนถึงปัจจุบันนี้ มาถึงวันนี้แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ได้กำหนดเรื่องการปรับปรุงระบบการบริหารงานของราชการให้ปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ปรับปรุง กฎหมาย ระเบียบราชการให้เป็นธรรม ทันสมัย โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ เป็นระบบดิจิตอลทั้งหมด เพื่อความมีคุณภาพและประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนทำธุรกิจและประชาชน
ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วครับ วันนี้ประเทศไทยต้องเดินหน้าอย่างเดียว คงไม่มียุทธศาสตร์ชาติฉบับใด ที่สมบูรณ์ถูกต้องเป็นจริงได้ทั้งหมด เพราะโลกมีพลวัตรในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีตลอดเวลา และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเวลานี้ รายละเอียดต่างๆในขั้นการทำแผน เพื่อนำไปสู่การทำเป็นนโยบายปฏิบัติของแต่ละยุทธศาสตร์ คงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเขียนเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อไป หน้าที่ของคนไทยคือ ต้องช่วยกันนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ด้วยการช่วยเหลือประเทศชาติก่อน
Steve Jobs กล่าวว่า "Innovation distinguishes between a leader and a follower." นวัตกรรมแยกความแตกต่างระหว่างผู้นำและผู้ตาม
Bill Gates กล่าวว่า "The first rule of any technology used in a business is that automation applied to an efficient operation will magnify the efficiency. The second is that automation applied to an inefficient operation will magnify the inefficiency."
กฏประการแรกในการนำเทคโนโลยีใดๆไปใช้ในธุรกิจคือ เมื่อเอาระบบอัตโนมัติไปใช้ในระบบปฏิบัติการ ทีมีประสิทธิภาพอยู่แล้วมันจะขยายผลให้เกิดความมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กฎประการที่สองคือ เมื่อเอาระบบอัตโนมัติไปใช้ในระบบปฎิบัติการที่ไร้ประสิทธิภาพมันจะยิ่งเพิ่มความไม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วันนี้คุณยิ้มหรือยัง?
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น