วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

ตื่นเถิดก่อนที่มันจะสายเกินไป

“Put away from thee a froward mouth, and perverse lips put far from thee. Let thine eyes look right on, and let thine eyelids look straight before thee.”
Proverbs 4: 24-25

ในอดีตเราเป็นสังคมเกษตรที่ปลูกพืชตามความเหมาะสมของสภาพพื้นดินและสิ่งแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่น ตามธรรมชาติของฟ้าฝนและฤดูกาล และเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ตามกำลังของคนที่สามารถทำงานได้ในแต่ละครอบครัว เป็นเกษตรกรขนาดเล็ก เมื่อได้ผลผลิตก็ใช้กินเลี้ยงชีวิตคนในครอบครัว ถ้าเหลือก็นำไปขายในตลาด ของชุมชนที่อยู่อาศัย และแบ่งปันกันให้บ้านพี่เรือนน้อง

โลกของเราตกอยู่ภายใต้กรอบความคิดการปฏิวัติเขียว (Green revolution) มาชั่วอายุคน
เราถูกฝรั่งสอนให้เปลี่ยนวิถีการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ตามความคิดใหม่ซึ่งเป็นความคิดบนพื้นฐาน เชิงเดี่ยว(Monoculture - based) คือการเกษตรแบบเพาะปลูกพืชชนิดเดียวเต็มพื้นที่ดิน หรือเลี้ยงสัตว์ชนิด เดียวเท่านั้น เหตุผลสนับสนุนความคิด นี้คือเพื่อความมีประสิทธิภาพในการจัดการอย่างเป็นระบบและเกิด ประสิทธิผลได้ผลผลิตมากขึ้นแต่มีต้นทุนต่ำ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นและมีกำไรมากขึ้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเวลานี้ คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีชีวิตที่ยากลำบาก ไม่ได้ร่ำรวยตามที่คิดฝัน คนที่ร่ำรวยจริงคือบริษัททั้งหลายที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร เพราะการเกษตรเชิงเดี่ยวทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพิงปัจจัยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจากภายนอกอย่างสูงมาก (High external input-dependent indutrial production) ซึ่งเกษตรกรต้องซื้อทั้งสิ้น เช่นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรอุปกรณ์การเกษตร บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ และสุดท้ายเกษตรกร ต้องขายผลผลิต การเกษตรให้โรงงานแปรรูปที่นำพืชผลการเกษตรไปผลิตเป็นอาหารและสินค้าอื่นๆที่เพิ่มมูลค่ามหาศาลเมื่อขายให้แก่ผู้บริโภค กำไรมหาศาลจึงตกอยู่ที่บริษัททั้งหลายในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

องค์กร UNCTAD ได้รายงานผลการศึกษาของนักวิจัยและ ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกจำนวนกว่า 50 คน และได้พิมพ์เผยแพร่เอกสารผลการศึกษาโดยใช้ชื่อรายงานว่า Trade and Environment Review 2013: Wake up before it’s too late ทบทวนการค้าและสิ่งแวดล้อมปี 2013 ตื่นเถิดก่อนจะสายเกินไป

ข้อสรุปสั้นๆจากรายงานนี้คือ การพัฒนาการเกษตรของโลกได้มาถึงจุดตัด (Cross road) แล้ว ถึงเวลา ที่ต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอย่างรีบด่วน ก่อนที่จะสายเกินไป เพราะความจริงที่พบจากการศึกษาคือ
  • การใช้ปุ๋ยเคมีทางการเกษตรได้เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าในระยะเวลา 40 ปี
  • อัตราการเติบโตของผลผลิตทางการเกษตร (Growth rate) กลับลดลง
  • ประชากรโลกจำนวนมากยังประสบความหิวโหย (Hunger) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ภาคการเกษตร
  • เด็กจำนวนมากในโลกยังมีสภาพทุโภชนาการ (Malnutrition) ขาดอาหาร
  • ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนายังยากจนขัดสน (Poverty)
  • สภาพดินและแหล่งน้ำในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาเสื่อมโทรม
  • ป่าไม้ถูกบุกรุกตัดทิ้งเพื่อการเกษตร พื้นที่ป่าลดน้อยลง ต้นน้ำแหล่งน้ำถูกทำลาย
  • สภาพพื้นดินเปลี่ยนไปเพราะขาดความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)
  • ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง(Climate change) จนเกิดผลกระทบต่อการทำการเกษตร เช่น น้ำท่วม หรือ ภัยแล้ง
  • การเกษตรแบบที่ใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษ(Highly specialized agriculture) ทำให้ใช้คนทำงานน้อยลง คนไม่มีงานทำมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ยากจนอยู่แล้ว
  • และปัญหาอื่นๆที่เป็นผลกระทบตามมาอีกมากมาย

รายงานนี้เสนอให้
  • โลกต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) ในการพัฒนาการเกษตรจาก “green revolution” เป็น “ecological intensification” คือให้ความใส่ใจต่อสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในการทำการเกษตรกรรม
  • เปลี่ยนการเกษตรแบบระบบพืชเชิงเดี่ยวที่ผลิตเพื่อการอุตสาหกรรมไปเป็นการเกษตรที่เป็นระบบสร้าง ผลิตผลที่มีความยั่งยืน (Sustainable regenerative production system)
  • ให้การสนับสนุนเกษตรกรรายเล็ก (Small-scale farmers) ในการเพิ่มผลผลิต
  • ให้มองเกษตรกรด้วยมุมมองใหม่ เกษตรกรไม่ใช่เป็นเพียงผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตรเท่านั้น แต่เป็นผู้ดูแลระบบนิเวศน์ทางการเกษตร(Agroecological system) ด้วย ดังนั้น รัฐบาลควรให้ การสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่ให้ใช้สารเคมี ปลูกพืชที่ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ สร้างความหลากหลาย ทางชีวภาพ และ ไม่ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
  • ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในระบบห่วงโซ่อาหาร ทั้งหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการแปรรูปอาหาร
  • ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ (Climate friendly food consumption)
  • ปฏิรูประบบการค้าผลิตผลการเกษตรและอาหาร ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

สิ่งที่น่าห่วงใยอย่างมาก คือถ้าการพัฒนาด้านการเกษตรยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจากสภาพปัจจุบัน ยังคงทำการเกษตรในรูปแบบระบบเกษตรเชิงเดี่ยวต่อไปและการค้าพืชผลการเกษตรและอาหารยังเป็นไปในรูปแบบปัจจุบันนี้ โลกจะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม มลพิษ ดินและแหล่งน้ำ ระบบนิเวศน์ มากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของคนและสัตว์ และจะเกิดวิกฤติอาหาร (Food crisis) ในที่สุด

ถึงเวลาที่เราต้องคิดทบทวนอย่างจริงจังเสียที ประเทศไทยมีพื้นดินที่เหมาะสำหรับการเกษตรกรรม บรรพบุรุษของเราทำการเกษตรแบบวิถีเกษตรไทย มีพอกินพอใช้อย่างสบาย ชีวิตมีความสุขสงบดี แล้วเราก็ตามกระแสโลกไปทำการเกษตรตามแบบที่ฝรั่งบอกให้ทำ เพราะเชื่อว่าจะได้กำไรร่ำรวยขึ้น

ผมมีความรู้สึกว่า เหมือนกับเรานั่งกินขนมจีนตามร้านข้างถนนอยู่ดีๆ ฝรั่งเข้ามาบอกเราว่า ขนมจีนกับร้านไม่ได้มาตรฐานสากล แล้วลากเราเข้าไปนั่งกินพิชซ่าด้วยกันในร้านที่ฝรั่งบอกว่ามีมาตรฐาน
ถูกสุขอนามัย เราจำเป็นต้องกินพิชซ่ากับฝรั่งด้วย เพราะเราอยากคบค้ากับฝรั่งให้โลกเห็นว่าเรามีความศิวิไลแล้ว เราตัวเล็กหยิบพิชซ่ากินไป 2 ชิ้น ก็จุกแล้ว ฝรั่งตัวใหญ่กวาดพิชซ่าอีก 6 ชิ้น กินจนหมดถาด แล้วคิดเงิน ฝรั่งบอกเราว่าไอ ได้สอนวิธีกินพิชซ่าให้ยูแล้ว พิชซ่ามีคุณค่าอาหารและอร่อยมาก ร้านก็สะอาดถูกสุขอนามัย พิชซ่าทุกถาดได้มาตรฐาน ยูได้รับประโยชน์มากมายจากการกินพิชซ่ากับไอวันนี้ ไอคบค้ากับยู บนพื้นฐาน ความเป็นประชาธิปไตย เราต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นค่าพิชซ่าที่กินด้วยกันวันนี้ เราหารสอง จ่ายเท่าๆกัน

Allan Savory กล่าวว่า “Agriculture is not crop production as popular belief holds - it's the production of food and fiber from the world's land and waters. Without agriculture it is not possible to have a city, stock market, banks, university, church or army. Agriculture is the foundation of civilization and any stable economy.” การเกษตรกรรมไม่ใช่การผลิตพืชผลตามที่นิยมเชื่อกัน แต่มันเป็นผลผลิตของอาหารและเส้นใย จากแผ่นดิน และน้ำของโลก ถ้าไม่มีการเกษตรกรรม ก็ไม่สามารถมีเมือง ตลาดหุ้น ธนาคาร มหาวิทยาลัย โบสถ์ หรือ กองทัพ การเกษตรกรรม เป็นรากฐานของความมีศิวิไลและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

แหล่งข้อมูล: UNCTAD Trade and Environment Review 2013

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น