“The one
who loves money will never be satisfied with money, he who loves wealth will
never satisfied with his income. This is futile.” Ecclesiastes5:10
วันนี้ขออนุญาตเขียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่ออีก
เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมไทยต้องยอมรับและเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลง
เพื่อคนไทยจะได้รีบช่วยกันทำการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ทันเวลา ทันต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ
สังคม การเมือง เทคโนโลยี และ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์รอบด้านที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จบในสังคมโลกปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลง คือ กระบวนการที่เราต้องการเปลี่ยนสภาพจากสถานะในปัจจุบัน
(Current
state) ไปสู่สภาพสถานะที่ต้องการในอนาคต (Desired future state) เพราะว่าสภาพสถานะในปัจจุบันที่เราดำรงอยู่
กำลังจะเป็นปัญหา มีความไม่เหมาะสมกับสถานะการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแล้ว ถ้าฝืนอยู่ในสภาพสถานะนี้ต่อไปโดยไม่ทำอะไร
อนาคตคงไม่รุ่งแน่ จึงต้องรีบเปลี่ยนแปลงสภาพสถานะที่เป็นอยู่เพื่อหนีความหายนะที่กำลังคืบหน้าเข้ามาเยือน
ไปสู่สภาพสถานะใหม่ที่มีความหวังมากกว่าเดิม มีอนาคต มีความรุ่งโรจน์ และมีความปลอดภัยมั่นคงกว่าเดิม
องค์กรมีชีวิต มีเกิด มีเสื่อม มีดับ การอยู่รอดขององค์กรมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงขององค์กร
ถ้าองค์กรมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมาก ความอยู่รอดขององค์กรจะมีมาก องค์กรที่มีการปรับตัวน้อยไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง
การอยู่รอดขององค์กรมีปัญหา เพราะการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาคือชีวิตขององค์กร และการเปลี่ยนแปลงทำให้องค์กรมีชีวิต
มีความเคลื่อนไหว (Dynamic) ทำให้องค์กรไม่กระด้างอยู่นิ่งตาย (Static)
กระบวนการเปลี่ยนแปลง
จริงๆแล้วคือการละลายความแข็งตัวขององค์กรนั่นเอง
ซึ่งเกิดขึ้นจากสภาพที่คนในองค์กรมีความคุ้นชินกับสภาพสถานะที่ดำรงอยู่ คนมีความรู้สึกปลอดภัยในสภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่
มีความรู้สึกสุขสบายกับสภาพสถานะที่เป็นอยู่ (Comfort status) คนในองค์กรไม่รู้สึกต้องการจะเปลี่ยนแปลงใดๆเพราะเห็นว่าดีอยู่แล้ว
ทำให้องค์กรเริ่มไม่เคลื่อนไหว เกิดการนิ่งตัว เกิดความแข็งกระด้าง (Freezing) ไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
การจะทำให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ผู้นำต้องละลายความแข็งกระด้าง (Unfreezing) ขององค์กร ก่อนนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพสถานะใหม่ที่ต้องการ
เมื่อองค์กรเปลี่ยนแปลงสภาพไปสู่สถานะที่ต้องการได้แล้ว
องค์กรจะเริ่มเข้าสู่สภาวะอิ่มสุขใหม่อีกครั้ง คนในองค์กรมีความรู้สึกพึงพอใจในสภาพสถานะที่เป็นอยู่ใหม่
รู้สึกปลอดภัย มีความสุขสบายกับสถานะที่องค์กรประสบความสำเร็จ
องค์กรเกิดอาการตึดยึดกับสภาพสถานะใหม่ เริ่มเดินเข้าสู่สภาพแข็งกระด้างอีกครั้ง
และจะเกิดความจำเป็นต้องละลายความแข็งกระด้างขององค์กรอีกครั้ง เพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงรอบใหม่
เป็นวัฎจักรการเปลี่ยนแปลงขององค์กรไปเรื่อยๆ
การละลายความแข็งกระด้างขององค์กรไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
เพราะคนในองค์กรโดยธรรมชาติแล้วจะติดยึดกับสิ่งเดิม จะไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้น
และมีแรงต่อต้าน (Resistance) การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ เพราะคนกลัวว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จะมีผลกระทบต่อตนเอง หรือกลุ่มของตน ทำให้องค์กรไม่ยอมละลายความแข็งตัว
แต่เนื่องจากมีแรงขับเคลื่อน (Driving Force) ที่กดดันรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ
สังคม การเมือง เทคโนโลยี ทำให้องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ผลักดันให้ต้องยอมละลายความแข็งกระด้าง
องค์กรจะปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ไปสู่สภาพสถานะที่ได้ดุลยภาพใหม่ (New Equilibrium) อีกครั้งหนึ่ง
ผู้นำการเปลี่ยนแปลงองค์กรต้องเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งต้องเผชิญกับเรื่องต่อไปนี้
ความเจ็บปวด (Pain)
แน่นอนว่าการละลายความแข็งกระด้างขององค์กร
มีผลทำให้คนหลายคนในองค์กรได้รับผลกระทบ บางคน บางกลุ่ม บางแผนก ในองค์กรจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานที่เคยชิน
อาจต้องสูญเสียผลประโยชน์บางอย่างที่เคยได้รับ อาจต้องเสียโอกาสบางเรื่องให้คนอื่นรับผิดชอบแทน
ความไม่สมหวัง การต้องปรับอารมณ์ จิตใจ ทัศนคติใหม่
ล้วนเป็นความกระทบกระเทือนที่เจ็บปวด ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องเข้าใจจุดนี้
และระมัดระวังความอ่อนไหวในอารมณ์ความรู้สึกของคนที่กำลังรู้สึกเจ็บปวด ผู้นำจึงต้องมีวิธีการเยียวยารองรับ
และต้องให้เวลาคนในองค์กรได้เรียนรู้ และปรับตัวด้วย
การปฏิเสธ (Denial)
เป็นเรื่องปกติที่ปฏิกริยาแรกที่คนในองค์กรตอบสนองคือการปฏิเสธก่อน
เพราะคนยังไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วน หรือยังไม่มีเวลาได้ตรวจสอบว่าการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลดีผลเสียกับตน
หรือกลุ่มตนอย่างไร สิ่งที่คนแสดงออกเบื้องต้นคือรักษาพื้นที่อาณาเขตของตนไว้ก่อน
ด้วยการปฏิเสธไม่รับข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลง
เป็นการป้องกันไม่ให้ใครรุกรานเข้ามาในพื้นที่ ปกป้องสถานะ ผลประโยชน์
และความมั่นคงของตนเองก่อน
การต่อต้าน (Resistance)
การต่อต้านก่อตัวขึ้นหลังการปฏิเสธเพื่อแสดงน้ำหนักหนุนการปฏิเสธของตน
เป็นการตอบโต้ให้รู้ว่าจะไม่ยินยอมเสียพื้นที่สุขสบาย (Comfort zone) ของตนหรือกลุ่มตน ในสถานการณ์เช่นนี้
ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องใช้แรงขับเคลื่อนรอบด้านที่บีบรัดองค์กรเข้ามาเสริมให้คนในองค์กรเห็นความจำเป็นที่ต้องนำการเปลี่ยนแปลงเข้ามาสู่องค์กร โดยทำความเข้าใจให้เห็นภาพที่ชัดเจนของสภาพสถานะในอนาคตที่ต้องการขององค์กร
ซึ่งผู้ต่อต้านมีส่วนจะได้รับประโยชน์ในอนาคตด้วย
การแสวงหา (Exploration)
หลังการต่อต้านอ่อนตัวลง คนเริ่มเสาะแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม และมองหาช่องทางโอกาสใหม่ที่ตนเองจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
หรือมองหาพื้นที่สุขสบายใหม่ของตน หลายคนที่เคยปฏิเสธ หรือต่อต้านจะเริ่มยอมรับ หรือยอมให้โอกาสแก่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ทัศนคติเริ่มเปลี่ยนจากการคิดลบเป็นการคิดบวกมากขึ้น
เพราะเริ่มมองเห็นประโยชน์ที่ตนเองหรือกลุ่มของตนเองจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน
หรือผู้ต่อต้านอาจจะขอต่อรองบางเรื่องบางประการที่ยังไม่เข้าใจกระจ่าง เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อสถานะของตนหรือกลุ่มตนอย่างไร
ผู้นำควรเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอต่างๆ
เพื่อความกระจ่างและเข้าใจ
การสื่อสาร (Communication)
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องกระจายการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงไปทุกระดับชั้นและไปทั่วทั้งองค์กร
สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดกระแสตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
คนในองค์กรส่วนหนึ่งจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง คนอีกส่วนหนึ่งในองค์กรจะยังไม่แสดงออกว่าต่อต้านหรือสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง
คนอีกส่วนหนึ่งจะแสดงออกว่าคัดค้านต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อนำคนกลุ่มที่ยังไม่แสดงออกว่าสนับสนุนหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
ให้มาเป็นผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง
เพราะถ้าคนกลุ่มนี้มีความเข้าใจและหันมาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เป็นคนกลุ่มใหญ่ขององค์กรที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งจะส่งผลทำให้การเปลี่ยนแปลงในองค์กรมีพลังขับเคลื่อนเร็วมากขึ้น
นำทัศนคติ (Attitude)
ทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญในการนำการเปลี่ยนแปลง
คนในองค์กรจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องเปลี่ยนทัศนคติก่อน คือการยอมละลายทัศนคติเดิมทิ้ง
และรับทัศนคติใหม่เข้ามาแทนที่ทัศนคติเดิม เมื่อทัศนคติเปลี่ยน ความคิดและกระบวนทัศน์จะเปลี่ยน
มุมมองในการเห็นปัญหา สิ่งแวดล้อม และบริบทจะเปลี่ยน
ทำให้ท่าทีที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนไปด้วย
เกิดการยอมรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรในที่สุด
การทุ่มเท (Commitment)
เมื่อทัศนคติลบได้ถูกละลายไปแล้ว ทัศนคติใหม่ที่เป็นทัศนคติบวกเข้ามาแทนที่
เป็นทัศนคติที่สร้างสรร มองการเปลี่ยนแปลงเป็นเชิงบวก มองเห็นด้านดี มองเห็นประโยชน์ขององค์กรที่จะได้รับในอนาคตหลังจากการเปลี่ยนแปลง
คนในองค์กรจะเกิดความร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้น เกิดพันธะทางความคิด จิตใจ เกิดความกระตือรือร้น
อยากมีส่วนในกระบวนการเปลี่ยนแปลงขององค์กร เมื่อคนในองค์กรมีความทุ่มเทเกิดขึ้น
ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงขององค์กรจะเกิดขึ้นในที่สุด
Lee Iacocca กล่าวว่า “The greatest discovery of my generation is that
human beings can alter their attitudes of mind.” การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของคนในรุ่นข้าพเจ้า
คือการที่มนุษย์สามารถเปลี่ยนทัศนคติของจิตใจเขาได้
คุณเปลี่ยนทัศนคติเพื่อการเปลี่ยนแปลงหรือยัง
สมชัย ศิริสุจินต์
ชอบบทความนี้ช่วยแนะนำต่อด้วยครับ