วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

6 compasses


“Leave the company of ignorant people, and live. Follow the way of knowledge."  Proverbs 9:6

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยท่านหนึ่งเปิดเผยว่า ที่รัฐสภามีการสั่งซื้อโต๊ะกินข้าว หลุยส์สไตล์อิตาเลียน รุ่น "มิเนอร์วา ไดนิ่ง เซ็ท" ราคาชุดละ 1 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยโต๊ะอาหาร ราคา 350,000 บาท และเก้าอี้ 10 ตัว ราคาตัวละ 65,000 บาท อีกทั้งยังซื้อชุดเก้าอี้ "คอฟฟี่ เซ็ท" ซึ่งบุด้วยหนังแท้อีกชุดละ 3 แสนบาท ซึ่งประกอบด้วยเก้าอี้ 2 ตัว ราคาตัวละ 120,000 บาท รวมเป็น 240,000 บาท และโต๊ะกาแฟ ราคา 60,000 บาท โดยทั้งหมดยังถูกหุ้มพลาสติกจำนวนมาก และถูกวางสุมอยู่ที่ริมทางเดิน ข้างห้องคณะกรรมาธิการ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกท่านหนึ่งเปิดเผยเช่นกันว่า รัฐสภาไทยใช้เงินซื้อนาฬิกาติดฝาผนังห้องต่างๆกว่าสองร้อยเรือน โดยนาฬิกาที่สั่งซื้อมาจากต่างประเทศได้ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ราคาเรือนละหลายหมื่นบาท ใช้เงินภาษีชาวบ้านซื้อนาฬิการุ่นนี้ไปประมาณ 8,000,000 บาท และใช้เงินอีก 7,000,000 บาท เป็นค่าติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมนาฬิกาให้เดินตรงกันทุกเรือน รวมแล้วใช้เงิน 15 ล้าน เพื่อให้ท่านผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติดูนาฬิกาได้อย่างสะดวกจะได้เข้าประชุมสภาตรงเวลา
ข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นถึง สถานะ (Status) การเป็นอภิชนของคนมีตำแหน่ง เพราะสิ่งที่ท่านสั่งซื้อมาใช้บ่งบอกระดับความคิดของท่านว่าใช้อภิสิทธิจากสถานะที่ได้รับจากตำแหน่งอย่างไร สะท้อนให้เห็นว่ามีจิตสำนึกที่มีคุณธรรมอยู่ในระดับใด ท่านได้ตระหนักถึงสิทธิและ ผลประโยชน์มากมายที่ทำให้ชีวิตของท่านผู้ทรงเกียรติมีความสะดวก สุขสบายและมีเกียรติในเวลานี้ว่าเป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชนจำนวนมากที่ต้องทำงานหนักและเหนื่อยยาก ต้องต่อสู้กับสารพัดปัญหา และต้องเสียภาษีเงินได้เพื่อเป็นความสุขสบายและเกียรติยศของพวกท่านหรือไม่
อภิชนที่ใช้อภิสิทธิเพื่อแสดงสถานะเกียรติยศและแสวงหาความสุขสบายส่วนตนไม่ได้มีอยู่เฉพาะที่รัฐสภาแห่งเดียวแต่มีทั่วไปตามหน่วยงานอีกมากมายที่ใช้เงินงบประมาณประเทศอย่างด้อยจิตสำนึกที่มีคุณธรรม คิดว่าเป็นสิทธิ เป็นความชอบธรรมตามสถานะของตำแหน่งที่สามารถใช้เงินได้ตามงบประมาณ
ปัญหาเรื่องจิตสำนึกของคนเป็นเรื่องยากที่จะพูดให้เป็นดำเป็นขาว เพราะมันขึ้นอยู่กับพื้นฐานความมีจริยธรรมของแต่ละคน ที่มีมาตรฐานทางจริยธรรมและคุณธรรมที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับภูมิหลังและการหล่อหลอมทางจริยธรรมว่ามีความเข้มข้นเพียงใด แต่สำหรับคนที่อยู่ในสถานะเป็นผู้นำของสังคม เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะผู้นำต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง (Model) ที่ดีให้ผู้อื่นในสังคมได้เห็นจริยธรรมและคุณธรรมในตัวผู้นำ เพื่อจะได้ยึดถือปฏิบัติตาม
ชีวิตของผู้นำต้องมีสิ่งที่ท้าทาย (Challenge) ชีวิตอยู่เกือบตลอดเวลา เพราะเวลาใดที่ผู้นำไม่มีเรื่องที่ท้าทายความสามารถ หรือท้าทายความรักอย่างดื่มด่ำ (Passion) ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อยู่ในความคิดและจิตใจของผู้นำแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำอีกต่อไป เนื่องจากว่ามีคนอื่นที่สามารถทำหน้าที่ได้อยู่แล้ว ความยากของผู้นำจึงอยู่ที่การต่อสู้ในจิตใจตนเองกับสิ่งที่ท้าทายทั้งหลายที่ผู้นำต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต่อสู้กับลาภ ยศ สรรเสริญ ที่ทำให้ผู้นำยากที่จะเอาชนะ ความละโมบ ความอยากมี อยากได้ อยากสุข อยากสบาย อยากมีเกียรติยศ เพื่อผลประโยชน์ของตนและบริวาร เพราะถ้าผู้นำยังไม่สามารถเอาชนะความท้าทายในใจของตนได้สำเร็จแล้ว จะสามารถเอาชนะใจคนอื่นได้อย่างไร
ผู้นำจะต้องมีความกระจ่างชัด (Clarity) ในจุดมุ่งหมาย (Goal) และทิศทาง (Direction) ในการนำของตน เพราะถ้าผู้นำมีจุดมุ่งหมายที่มีความชัดเจน (Clear goal) จะทำให้ผู้นำสามารถกำหนดทิศทางได้ถูกต้อง (Right direction) และจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนจะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายที่ถูกต้อง (Right target) ด้วย
แม้ว่าผู้นำจะมียุทธศาสตร์(Strategy) ที่ดี และมีกระบวนการ (Process) ที่มีประสิทธิภาพ มีกลยุทธ์ (Tactic) เยี่ยมยอดในกิจกรรมต่างๆที่วางแผนทำเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมาย แต่ถ้าผู้นำพ่ายแพ้การต่อสู้ในจิตใจตนเอง ไม่สามารถใช้ความเข้มแข็งทางจริยธรรมและคุณธรรมเอาชนะความท้าทายในจิตใจ เขาจะสูญเสียศักดิ์ศรี (Integrity) ของตนเอง เขาจะสูญเสียความน่าเชื่อถือ (Credibility) ของตนเองต่อผู้อื่น ทำให้เขากลายเป็นคนที่ไม่มีความสัตย์ซื่อ (Honesty) ต่อตนเองและต่อผู้อื่น ยุทธศาสตร์ กระบวนการ และกลยุทธ์ ของผู้นำแม้จะดีเยี่ยมเพียงใดก็ไม่สามารถขับเคลื่อนไปยังจุดมุ่งหมายได้ เมื่อคนไม่ไว้วางใจและหมดศรัทธาในตัวผู้นำ
ผู้นำมีโอกาสกลายเป็นอภิชนได้อย่างง่ายดาย ถ้าผู้นำขาดความชัดเจนเรื่องจุดมุ่งหมาย ทำให้ใช้สถานะผู้นำสร้างอภิสิทธิเพื่อประโยชน์ของตนเองทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทำให้ผู้นำเริ่มเดินหลงทาง เดินผิดไปจากทิศทางที่ถูกต้อง เนื่องจากใจของผู้นำไม่มีความอิสระในการตัดสินใจ เพราะไม่สามารถเอาชนะความท้าทายเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลประโยชน์ส่วนรวมในใจของตน ความเป็นอภิชนรุกคืบเข้าครอบครองความคิดและจิตใจ ทำให้เขาใช้อภิสิทธิอย่างไม่รู้สึกละอายใจอีกต่อไป
John C. Maxwell ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของท่านว่า ผู้นำและทีม จะต้องมีเข็มทิศ 6 ทาง (6 Compasses) ประจำตัวเพื่อทำให้ผู้นำไม่หลงทิศหลงทางในการนำองค์กรทำงานให้ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมาย

Moral Compass (Look above)
เข็มทิศที่ชี้ไปทางเบื้องสูง ให้ผู้นำและทีมรู้จักมองเรื่องบาปบุญคุณโทษ รู้ผิดชอบชั่วดี ให้คิดถึงคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ในสิ่งที่คิดและทำ อย่าได้มองเฉพาะด้านผลตอบแทนทางวัตถุเงินทองผลผลประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว ต้องชั่งใจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและผลกระทบต่อผู้อื่นในระยะยาวด้วย ต้องพิจารณาเรื่องผลดีโดยรวมที่สังคมจะได้รับ ผู้นำต้องแน่ใจว่าการตัดสินใจของตนต้องเป็นสิ่งดี มีคุณธรรม มีความเป็นธรรม และก่อให้เกิดความมีไมตรีแก่ทุกฝ่าย เมื่อทำแล้วไม่ขัดแย้งเป็นศัตรูกัน

Intuitive Compass (Look within)
เข็มทิศที่ชี้เข้าไปภายในใจของตนเองเพื่อให้ผู้นำและทีม ฟังเสียงเตือนภายในใจ (Inner voice) เมื่อต้องต่อสู้กับความท้าทายที่นำไปสู่การลวงล่อ (Temptation) ซึ่งจะทำให้ผู้นำตกหลุมพรางผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่เย้ายวนใจ ถ้าเข็มทิศในใจไม่ทำงาน ผู้นำจะเดินผิดทิศผิดทาง ผลตามมาคือผู้นำจะเริ่มสูญเสียความเป็นผู้นำ คนเริ่มมีข้อสงสัยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้นำ สงสัยในเรื่องความโปร่งใส คนเริ่มระแวงไม่มั่นใจ ความเชื่อถือไว้วางใจในตัวผู้นำลดลง การให้ความร่วมมือจะลดลงตามไปด้วย

Historic Compass (Look behind)
เข็มทิศที่ชี้ไปเบื้องหลัง คือการมองอดีตเพื่อถอดบทเรียนทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นอดีต แล้วนำสิ่งดีมาใช้ (Positive use) ในปัจจุบัน การนำองค์กรไปสู่อนาคตต้องเหลียวหลังกลับไปดูประวัติศาสตร์ขององค์กรด้วย เพราะมีค่านิยม วัฒนธรรมขององค์กรที่ผูกติดความคิดคนในองค์กรอยู่ ผู้นำต้องให้เครดิตแก่ผู้บุกเบิก ผู้เสียสละ ผู้ล้มลุกคลุกคลานในอดีตที่เตรียมทาง (Pave the way) ให้เรา ทำให้ผู้นำรุ่นต่อมาสามารถเดินต่อไปในอนาคตได้ ผู้นำสามารถใช้ค่านิยมของความเสียสละ ความมุ่งมั่นบากบั่นของผู้กล้าในอดีตให้เป็นประโยชน์ในการนำองค์กรปัจจุบันไปสู่อนาคต

Directional Compass (Look ahead)
เข็มทิศชี้ทิศทาง เป็นเข็มทิศที่ชี้ไปเบื้องหน้า ช่วยผู้นำในการมองอนาคต มีวิสัยทัศน์ เพราะวิสัยทัศน์นำไปสู่ทิศทาง จุดมุ่งหมาย นำไปสู่เป้าหมายที่สัมผัสได้ (Vision provides direction, goal brings concrete target) ผู้นำจึงต้องมีเข็มทิศชี้ทิศทาง ที่ชี้ให้มองไปในอนาคตเพื่อสามารถกำหนดทิศทางที่จะเดินไปสู่ความสำเร็จภายใต้การนำของตนในอนาคต

Strategic Compass (Look around)
เข็มทิศยุทธศาสตร์ เป็นเข็มทิศที่ชี้ให้ผู้นำมองสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ จุดอ่อน จุดแข็ง สิ่งคุกคาม และโอกาส ของตนเองและผู้อื่น แบบที่เรารู้จักกันดีว่าทำ SWOT เพราะยุทธศาสตร์ทำให้เกิดกระบวนการไปสู่วิสัยทัศน์ (Strategy brings process to vision) ผู้นำจึงต้องมียุทธศาสตร์ เพราะถ้าไม่มียุทธศาสตร์ก็ไม่มีกระบวนการที่จะทำให้ไปถึงวิสัยทัศน์ได้

Visionary Compass (Look beyond)
เข็มทิศวิสัยทัศน์ เป็นเข็มทิศที่ชี้ให้ผู้นำมองการณ์ไกล มองข้ามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันไปยังสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการมองข้าม Shot เป็นการคิดเรื่องในระยะไกล (Long range) ทำให้ผู้นำมีวิสัยทัศน์ ดังที่ George Washington Carver กล่าวว่า “Where there is no vision, there is no hope. ที่ใดไร้วิสัยทัศน์ที่นั่นไร้ความหวัง ดังนั้นผู้นำจึงต้องมีเข็มทิศวิสัยทัศน์ประจำตัวช่วยทำให้ผู้นำมีไฟแห่งความหวังในใจอยู่เสมอ
Joel A. Barker กล่าวว่า” Vision without action is merely a dream. Action without vision just passes the time. Vision with action can change the world.” วิสัยทัศน์ที่ไม่มีการลงมือทำเป็นเพียงความฝัน การปฏิบัติที่ไม่มีวิสัยทัศน์เสียเวลาเปล่า แต่วิสัยทัศน์ที่มีการลงมือปฏิบัติสามารถเปลี่ยนโลกได้
สังคมไทยต้องการผู้นำที่ไม่ใช่อภิชน ผู้นำที่ไม่ฉกฉวยใช้อภิสิทธิแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและเพื่ออภิชนด้วยกัน
เราต้องการผู้นำที่ดี ผู้นำที่มีเข็มทิศ 6 ทางประจำใจ
ท่านเห็นด้วยหรือเปล่าครับ?

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   

ขอขอบพระคุณ ดร. อำนวย ทะพิงค์แก ที่กรุณาแนะนำให้ใช้คำ “อภิชนนิยม” แทนคำ “ชนชั้นนิยม” ที่ผมใช้แปลคำ “Elitism” ในบทความเรื่อง Meritocracy ที่เขียนฉบับที่แล้ว

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Meritocracy


“Sensible people accept good advice. People who talk foolishly will come to ruin.” Proverbs 10:8

อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ Goh Chok Tong กล่าวในงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 190 ปีของสถาบัน Raffles Institution ที่ท่านได้รับรางวัล Gryphon Award ในฐานะศิษย์เก่าผู้มีผลงานเป็นเลิศว่า อันตรายของคนหนุ่มสาวที่เก่งและฉลาดที่สุดของสิงคโปร์คือการที่คิดว่าตนเองโดยธรรมชาติแล้วเหนือกว่าผู้อื่นและคิดว่าตนเองเป็นผู้ประสบความสำเร็จด้วยตนเอง (The danger of Singapore’s best and brightest young people thinking they are naturally superior and entitled to their success)
คำพูดของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ Goh แสดงความห่วงใยสังคมสิงคโปร์ที่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีความคิดและทัศนคติที่เห็นแก่ความสำเร็จของตนเองจากการใช้ความรู้ความสามารถที่ได้รับการศึกษาอย่างดีที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้ทุ่มทรัพยากรอย่างมหาศาลในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศจนเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าการศึกษาของประเทศสิงคโปร์อยู่ในอันดับต้นๆของโลก ระบบการศึกษาที่ดีเลิศทำให้คนหนุ่มสาวของสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการทำงาน และมีรายได้สูง
ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีประเทศสิงคโปร์ Goh เห็นว่าควรจะมีการป้องกันไม่ให้เกิดชนชั้นนิยม (Elitism) ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และในสังคมทั่วไป ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการทำให้ประเทศสิงคโปร์เกิดการแบ่งชนชั้นในสังคมขึ้นได้ เพราะผู้นำประเทศสิงคโปร์ในอดีตได้พยายามสร้างสังคมประเทศสิงคโปร์ให้มีความเป็นเอกภาพมาตลอดเวลา
แนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดชนชั้นนิยม (Elitism) ในประเทศสิงคโปร์ ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี Goh เสนอว่าสังคมสิงคโปร์ต้องยึดมั่นในระบบคุณธรรมธิปไตย (Meritocracy) เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนในประเทศสิงคโปร์ได้รับผลประโยชน์ทางสังคมอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน
“What we need is to get the successful to understand that they have a responsibility to help the less fortunate and less able with compassion” สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือ ทำให้ผู้ที่ประสบความสำเร็จเข้าใจว่าพวกเขามีความรับผิดชอบที่จะต้องช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโชควาสนาและผู้ที่ด้อยความสามารถกว่าพวกเขาด้วยความเมตตา เป็นคำพูดของอดีตผู้นำประเทศที่สะท้อนถึงความคิดของเขาที่มีต่อสังคมประเทศสิงคโปร์ในขณะนี้ และท่านยังกล่าวเสริมอีกว่ารัฐบาลจะต้องมีนโยบายและโครงการให้การช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่ตกหล่นอยู่ข้างหลังเพื่อให้มั่นใจว่าระบบคุณธรรมของประเทศสิงคโปร์มีความยุติธรรมและสามารถดำรงความรักเมตตาแก่ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้โชคดีที่มีภูมิหลังครอบครัวที่ดี หรือ ผู้มีสติปัญญาดีโดยกำเนิด
อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ Goh กล่าวอีกว่าโรงเรียนชั้นนำของประเทศสิงคโปร์ จะต้องแสดงบทบาทที่สำคัญในการยับยั้งไม่ให้ความคิดชนชั้นนิยมและความรู้สึกว่าการประสบความสำเร็จเกิดจากความสามารถของตนเองแต่เพียงลำพังของคนหนุ่มสาวสิงคโปร์เวลานี้ แพร่ระบาดเข้าไปในความคิดของนักเรียนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมคือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการแบ่งปันที่ไม่เท่าเทียมกัน (Disproportion) ของการลงทุนทางสังคม คนกลุ่มนี้รวมทั้งตัวของท่านด้วยจึงเป็นหนี้บุญคุณต่อสังคมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นหนี้บุญคุณต่อผู้ที่ไม่มีหนทางเข้าถึงโอกาสได้เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประสบความสำเร็จ  ดังนั้นจึงมีหนี้บุญคุณที่จะต้องตอบแทน ทำให้ทุกคนในสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเพียงตัวของเราเท่านั้น (We owe a debt to make lives better for all, and not just for ourselves.)
เพราะว่า อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ Goh และเพื่อนๆอีกหลายคนเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจน หรือครอบครัวที่มีรายได้ต่ำแต่ได้รับโอกาสจากระบบคุณธรรมธิปไตยของสิงคโปร์ทำให้เขาและเพื่อนๆมีโอกาสได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนชั้นนำของประเทศสิงคโปร์และเป็นเส้นทางเดินไปสู่ความสำเร็จในชีวิต เมื่อประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประเทศเจริญก้าวหน้าจนเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลก ระบบคุณธรรมธิปไตย ของสังคมสิงคโปร์กลับเสื่อมถอยลง สังคมสิงคโปร์เริ่มมีลักษณะการแบ่งชนชั้นทางสังคมมากขึ้น ครอบครัวที่มีความพร้อมมากกว่าทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถให้การเริ่มต้นที่ดีกว่าแก่บุตรหลานของตน เพราะครอบครัวที่มีการศึกษาดี มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีความพร้อมมากกว่าในการลงทุนให้แก่ลูกหลานของตน ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมขยายกว้างมากขึ้น ฐานะทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มน้อยแต่มีทรัพย์สินมากขยายห่างจากฐานะทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มใหญ่แต่มีทรัพย์สินน้อย ซึ่งแตกต่างไปจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์ในอดีต
คำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ Goh ที่ให้สติแก่สังคมสิงคโปร์ที่เริ่มมองเห็นช่องว่างทางเศรษฐกิจของคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีการศึกษา ที่ใช้ความรู้เป็นประโยชน์ในการกอบโกยความมั่งคั่งเข้าสู่ตนเองโดยเข้าใจว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของตนและไม่ใส่ใจให้ความช่วยเหลือแก่คนที่ด้อยโอกาสกว่าตนในสังคม
คำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ น่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยด้วยเช่นกัน เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยมีช่องว่างทางชนชั้นเศรษฐกิจและสังคมที่ถ่างกว้างมากกว่าประเทศสิงคโปร์ด้วยซ้ำไป ปัญหาความแตกแยกทางความคิดในสังคมไทยเวลานี้มีความเกี่ยวพันกับช่องว่างของชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากสาเหตุเดียวกันคือ กลุ่มคนที่มีโอกาสได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีใช้โอกาสที่ได้รับจากสังคมแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อตนเอง แต่ขาดจิตสำนึกในการดูแลช่วยเหลือกลุ่มคนจำนวนมากที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้ด้อยโอกาสในการได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งนับวันจะห่างกันมากขึ้นทุกที
สังคมไทยเป็นสังคม ชนชั้นนิยม (Elitism) มานานแล้ว และเป็นเรื่องที่ฝังเข้าไปในความคิดของคนไทยจนถึงทุกวันนี้ที่ใช้การศึกษาเป็นบันไดก้าวสู่ฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เป็นการก้าวขึ้นสู่ชนชั้นนิยมของสังคมไทย ในขณะที่เรื่องคุณธรรมธิปไตย (Meritocracy) ซึ่งเคยเป็นเรื่องที่สังคมไทยในอดีตมีความเข้มแข็งมาก แต่ปัจจุบันเรื่องคุณธรรมในสังคมไทยได้ตกต่ำลงจนถึงระดับที่น่าตกใจ เมื่อความคิดเห็นของสังคมไทยส่วนหนึ่งยอมรับว่าเรื่องการโกงกินคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ขอเพียงให้มีผลการทำงาน
มองผู้นำสังคมสิงคโปร์แล้วกลับมามองผู้นำสังคมไทย ทำให้เห็นพันธะทางใจของผู้นำสังคมสิงคโปร์ที่มีต่อประชาชนของเขา ความแตกต่างของความเป็นผู้นำอยู่ที่ระดับพันธะทางใจที่แตกต่างกันของผู้นำ

·         Let it happen leaders
ผู้นำที่ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นเอง โดยไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง เพียงแต่ผู้นำไม่เข้าไปขัดขวางเหตุการณ์นั้น เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ผู้นำจะหาเหตุผลเพื่อสนับสนุนสถานะความเป็นผู้นำของตน ถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลร้ายต่อสถานะความเป็นผู้นำของตน ผู้นำจะอ้างการที่ตนเองไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องสนับสนุนให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น เป็นเหตุผลสนับสนุนสถานะความเป็นผู้นำของตน แต่ถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลดี ผู้นำจะอ้างการที่ตนไม่ได้เข้าขัดขวางเหตุการณ์นั้นทำให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้ เป็นเหตุผลสนับสนุนสถานะความเป็นผู้นำของตนอีกเช่นกัน

·         Help it happen leaders
ผู้นำที่ช่วยทำให้เหตุการณ์เกิดขึ้น เป็นผู้นำที่มีพันธะทางใจในระดับหนึ่งทำให้มีส่วนเข้าไปร่วมช่วยเหลือให้เหตุการณ์นั้นสามารถเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วเป็นผลดี สถานะความเป็นผู้นำจะเข้มแข็งมากขึ้นเพราะผู้นำจะสามารถอ้างเป็นผลงานของตน ในทางตรงกันข้ามถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นผลดี ผู้นำจะแสดงความรับผิดชอบในฐานะที่มีส่วนช่วยผลักดันให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้สถานะความเป็นผู้นำเข้มแข็งมากขึ้นด้วยเช่นกัน ในฐานะที่กล้าเข้าไปผลักดันและกล้ารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

·         Make it happen leaders
ผู้นำที่ทำให้เหตุการณ์เกิดขึ้น เป็นผู้นำที่มีพันธะทางใจในระดับสูงที่มุ่งมั่นจะทำให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากผู้นำมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มองเห็นประโยชน์ขององค์กรที่จะได้รับจากเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นผู้ผลักดันนำให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นด้วยตนเอง ผลที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นไปในทางใด ผู้นำเป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้สถานะความเป็นผู้นำเข้มแข็ง มีความเด่นชัดในจุดยืนและหลักการของตน

สังคมไทยต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและมีพันธะทางใจในระดับสูง มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทยที่มีปัญหารุมเร้าไปแทบทุกด้านทั้งการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ สังคมไทยเวลานี้มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงได้ตลอดเวลา
สังคมไทยโดยเฉพาะผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษา ที่การศึกษาทำให้ชีวิตของเขาได้รับความสุขสบายจากความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ ทำให้สามารถถีบตัวเองขึ้นมาสู่ชนชั้นทางเศรษฐกิจเหนือคนกลุ่มใหญ่ในสังคม ที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความด้อยโอกาสทางการศึกษา ผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษาควรพิจารณาตนเองด้วยความเป็นธรรมว่า ความสำเร็จในการศึกษาและความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่ทำให้ชีวิตมีความสุขสบายในเวลานี้ คนส่วนใหญ่ที่ทุกข์ยากลำบากในสังคมมีส่วนเสียสละความสุขสบายส่วนที่พวกเขาควรได้รับ ช่วยทำให้ผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษาสามารถก้าวสู่ชนชั้นทางเศรษฐกิจได้ ถึงเวลาที่ผู้ได้เปรียบทางชนชั้นเศรษฐกิจต้องนำคุณธรรมมาช่วยดูแลความทุกข์ยากลำบากของผู้เสียเปรียบทางเศรษฐกิจ ตอบแทนความเสียเปรียบที่พวกเขาสูญเสียให้แก่ผู้ได้เปรียบทางเศรษฐกิจมาตลอด
มีคำกล่าวว่า “The good you do today, people will often forget tomorrow. Do good anyway.” ความดีที่ท่านทำวันนี้ แม้คนมักจะลืมในวันพรุ่งนี้ ขอให้ท่านจงทำดีต่อไปเถิด
และ “Give the world the best you have, and it may never be enough; give the world the best you’ve got anyway.” ให้สิ่งที่ดีที่สุดที่ท่านมีแก่โลก แม้ว่ามันจะไม่เคยพอเพียง ขอให้ท่านจงให้สิ่งดีที่สุดที่ท่านมีแก่โลกต่อไปเถิด
ครับ ให้สิ่งที่ดีที่สุดกับสังคมไทย แม้ว่ามันอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้ แต่จงให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่สังคมไทยต่อไปเถิด J


เขียนที่โรงแรมเจริญธานีขอนแก่น