“Do not withhold good from those who
need it, when you have the ability to help.” Proverbs
3:27
ข่าวเรื่องข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ฟ้องศาลปกครองร้องขอความเป็นธรรมที่ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งย้ายจากตำแหน่งที่มีอำนาจและบทบาทสูงไปดำรงตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจและบทบาท
จนศาลปกครองได้พิพากษาให้คืนตำแหน่งเดิมให้แก่ข้าราชการท่านนี้โดยเร็ว และอีกกรณีหนึ่งเป็นเรื่องของแพทย์หญิงชื่อดังผู้เชี่ยวชาญเรื่องนิติเวชที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งย้ายจากตำแหน่งผู้อำนวยการที่มีอำนาจและบทบาทสูงไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาที่ฟังดูดี
แต่มีอำนาจและบทบาทน้อยลงกว่าตำแหน่งเดิม
เรื่องในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นในทุกองค์กร
ทั้งในหน่วยงานราชการ และองค์กรเอกชน ทั้งในบริษัทที่แสวงหากำไร และในสมาคมมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร
จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดเรื่องเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และวิจารณ์กันทางสื่อสังคมบ่อยๆ
ฝ่ายหนึ่งอ้างทำเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ความมีประสิทธิภาพ และความมีเอกภาพในการทำงาน
อีกฝ่ายอ้างว่ามีการเมืองแทรกแซง ไม่มีธรรมภิบาล ไม่มีความเป็นธรรม ไม่โปร่งใส
ต่างฝ่ายต่างอ้างเหตุผลความถูกต้องของตน
เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมุมมองที่แตกต่างกัน
ฝ่ายหนึ่งมองว่าผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม
(Wrong
people in wrong position) จึงจำเป็นต้องจัดการย้ายออกจากตำแหน่งเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร
แล้วหาคนที่ถูกต้องเหมาะสมกับตำแหน่งกว่ามาทำหน้าที่แทนเพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน อีกฝ่ายบอกว่า
คนที่ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นผู้ที่ถูกต้องเหมาะสมกับตำแหน่ง (Right people in
right position) ดีอยู่แล้ว เป็นผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถแล้วจะย้ายให้เกิดปัญหาทำไม
เป็นความจริงที่เรื่องการจัดคนที่เหมาะสมให้มีโอกาสทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
เพราะถ้าปล่อยให้คนที่ไม่เหมาะสมอยู่ทำงานในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมจะมีโอกาสสร้างความเสียหายให้แก่องค์กรได้ เพราะ
ขวัญและกำลังใจเสื่อมถอย (Morale
erode)
ถ้าเอาคนที่ไม่เหมาะสมไปทำงานในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม
แน่นอนว่า คนในหน่วยงานไม่มีความสุขแน่ เพราะคนในหน่วยงานส่วนหนึ่งเกิดความไม่มั่นใจในอนาคตของตนเองไม่มั่นใจในความสามารถของผู้บริหาร ไม่แน่ใจว่ามีวิธีการบริหารแบบใด มียุทธศาสตร์อะไร โครงการต่างๆที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และที่กำลังวางแผนงานจะทำต่อไป ผู้บริหารคนใหม่จะทำต่อไปหรือไม่
โครงสร้างการบริหาร ตำแหน่งหน้าที่จะถูกสับเปลี่ยนกันอย่างไร
คนในหน่วยงานเกิดอาการขวัญเสีย หมดกำลังใจ และนี่คือความเสียหายประการแรกที่เอาคนที่ไม่มีความสามารถมาอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมกับความสามารถของเขา
ปัญหาจึงเกิดขึ้น
งานก้าวหน้าช้า (Slow
progress)
ถ้าผู้บริหารคนใหม่เป็นคนที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง
เขาจะไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้กับผู้ร่วมงานได้โดยเร็ว เมื่อการสื่อสารไม่ชัดเจน
คนในหน่วยงานจะสับสน ไม่แน่ใจว่าจะให้ทำอย่างไรกันแน่ คนในหน่วยงานส่วนใหญ่จะใช้เกียร์ว่างวางเฉย
ทำเฉพาะงานที่จำเป็นต้องทำประจำวันเพียงเพื่อไม่ให้ถูกเพ่งเล็งว่าไม่ทำงาน
งานจะก้าวหน้าช้าลง จนกว่าจะมีการทำความเข้าใจกันทั่วทั้งองค์กร
คนถึงจะเริ่มขยับตัวทำงานกันใหม่
เกิดการเอาเปรียบ (Take
advantage)
การเข้ามาสู่ตำแหน่งของผู้บริหารใหม่ที่ไม่มีความสามารถที่แท้จริง
ทำให้คนกลุ่มหนึ่งในหน่วยงานถือโอกาสฉกฉวยเอาประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านของผู้นำองค์กร
ถ้าผู้บริหารใหม่ไม่เก่งจริงจะตกเป็นเหยื่อให้คนทั้งในองค์กรและนอกองค์กรหลอกเอาประโยชน์
เพราะความที่ผู้อยู่ในตำแหน่งไม่ใช่ผู้มีความสามารถจริงจึงไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คนส่วนหนึ่งจะเข้ามาหาเพื่อหวังผลประโยชน์ จะใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่ตัวเองและกลุ่มของตน
ข้อมูลที่ป้อนให้ผู้บริหารอาจมีความจริงเพียงส่วนเดียว
ข้อมูลบางส่วนอาจโดนกั๊กเก็บไว้ ถ้าไม่ถามก็ไม่บอก
ถึงบอกก็บอกเท่าที่อยากให้รู้เท่านั้น ทำให้การตัดสินใจของผู้บริหารผิดพลาดไปเข้าทางของผู้มุ่งหวังผลประโยชน์
ไม่ได้ใช้ศักยภาพ (Under
utilize its potential)
การมีผู้บริหารที่ไม่ใช่คนที่เก่งแท้จริงมานั่งในตำแหน่งทำให้องค์กรมีโอกาสเกิดอาการ
“คนเก่งไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้เก่ง” เพราะความที่ผู้บริหารไม่เก่งจริงมักจะไม่ไว้วางใจใคร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเก่งในองค์กรที่มีความรู้ความสามารถจริง เนื่องจากตัวผู้บริหารมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะใช้คนที่เก่งกว่าตนทำงาน
เพราะมองเห็นบรรดาคนเก่งในองค์กรทั้งหลายเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ในตำแหน่งของตน
กลัวความสามารถของคนเก่งจะโดดเด่นเป็นที่ชื่นชมข่มราศีของตน
เรื่องการจัดคนให้ถูกต้องกับงานกับตำแหน่งอย่างที่เราได้ยินผู้บริหารพูดกันบ่อยๆว่า
“Put
the right man on the right job in the right time” เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่จะทำอย่างที่พูดได้ไม่ค่อยง่ายนัก
เพราะถ้าสามารถทำได้ดังที่พูด คงไม่เกิดปัญหาการบริหารงานในหน่วยงานต่างๆ
จึงมีคำพูดต่อมาว่า
Right person in
the right place = Progression
ถ้าเอาคนที่ถูกต้องคือมีความรู้ความสามารถไปอยู่ในที่ถูกต้องคืออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในเวลาที่ถูกต้อง
ย่อมนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่สถานที่นั้นๆคือหน่วยงานที่ผู้บริหารไปดำรงตำแหน่ง และแน่นอนว่าหน่วยงานนั้นจะเติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
Right person in
the wrong place = Confusion
ถ้าเอาคนที่ถูกต้องไปอยู่ในที่ไม่ถูกต้อง
คือเอาคนเก่งมีความสามารถไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะกับความสามารถของเขา ย่อมจะนำความสับสนมาสู่หน่วยงานนั้น
เพราะผู้บริหารที่มีความสามารถแทนที่จะได้ไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับความสามารถของเขากลับเอาไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมกับความสามารถของเขา
ตัวผู้บริหารก็สับสน คนทำงานในหน่วยงานก็สับสน แต่ในที่สุดผู้บริหารที่เก่งจะสามารถพลิกสถานการณ์นำองค์กรผ่านความสับสนได้
Wrong person in
the right place = Frustration
ถ้าเอาคนที่ไม่ถูกต้องไม่มีความสามารถไปอยู่ในที่ถูกต้องคือเอาไปอยู่ในตำแหน่งที่ดี
ในหน่วยงานที่ใหญ่เกินความสามารถที่เขาจะบริหารจัดการได้ จะสร้างความกลัดกลุ้มใจให้กับตัวผู้บริหารและสร้างปัญหาให้กับคนในองค์กร
ทั้งคนนำและคนตามไม่มีความสุข เซ็งกันไปทั่วทั้งหน่วยงาน
ไม่เป็นผลดีเพราะเป็นการฆ่าอนาคตของผู้บริหาร
Wrong person in
the wrong place = Regression
ถ้าเอาคนที่ไม่ถูกต้องไม่มีความสามารถ
ไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมย่อมทำให้หน่วยงานนั้นมีแต่ความถดถอยถอยหลัง หน่วยงานนั้นคงไม่มีอะไรดีขึ้นแน่
เพราะเอาคนที่บริหารไม่เป็นไปอยู่ในตำแหน่งที่เกินความสามารถของเขา
คนบริหารก็ลำบาก คนในองค์กรก็ลำบาก เพราะผู้บริหารทำไม่เป็น
คนในองค์กรมีความสามารถแต่ไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างที่ควรจะได้ทำ
หน่วยงานไม่มีโอกาสก้าวไปข้างหน้า มีแต่ย่ำอยู่กับที่หรือถอยหลัง
ถ้าท่านเป็นผู้บริหาร
อยากเชิญชวนให้ท่านได้คิดทบทวนว่าท่านเป็นคนที่ถูกต้องคือมีความรู้ความสามารถ
ความถนัด เหมาะสมกับตำแหน่งที่ท่านเป็นผู้นำเป็นผู้บริหารในขณะนี้หรือไม่ และขอให้ท่านได้พิจารณาว่าท่านได้แต่งตั้งคนที่ถูกต้องให้ไปทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้วหรือไม่
สิ่งที่อยากจะแนะนำให้ท่านพิจารณาคือ
1. Know
the situation รู้สถานการณ์
ก่อนจะตัดสินใจเลือกใครไปทำงานในตำแหน่งใด
ผู้บริหารจะต้องรู้และเข้าใจสถานการณ์ของหน่วยงาน หรือฝ่าย หรือแผนก
นั้นให้ดีเสียก่อน คือต้องรู้จักคน รู้จักความรู้ ความสามารถ ทักษะของคนในหน่วยงานนั้นว่ามีศักยภาพอยู่ในระดับใด
ผู้บริหารต้องทำการวิเคราะห์ประเมินให้ดีว่าควรเลือกคนแบบใดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ไปเป็นผู้บริหารอยู่ในตำแหน่งนั้น
2. Know
the team รู้จักทีมงาน
ก่อนที่ส่งผู้บริหารคนใดไปสู่ตำแหน่งใด
ต้องวิเคราะห์ด้วยว่ามีทีมงานที่มีความสามารถเหมาะสมที่จะเป็นกำลังช่วยผู้บริหารที่เราจะส่งไปอยู่หรือไม่
เพราะผู้บริหารที่ไปทำงานโดยไม่มีทีมงานที่ดีสนับสนุนจะทำงานอย่างยากลำบาก
และประสบความสำเร็จยาก ต้องมีทีมงานที่ดี มีทัศนคติเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน
มีวัฒนธรรมการทำงานที่สอดคล้องกันช่วยเหลือผู้บริหารจึงจะประสบความสำเร็จได้
3. Know
the leader รู้จักผู้นำผู้บริหาร
ก่อนจะเลือกผู้บริหารไปอยู่ในตำแหน่งใด
จะต้องรู้จักตัวผู้บริหารที่เราจะส่งไปอยู่ในตำแหน่งเป็นผู้นำของหน่วยงานให้ดี
ต้องรู้ว่าผู้บริหารคนนั้นเป็นคนอย่างไร เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ มีทิศทางความคิดอย่างไร
เป็นคนเสียสละ เป็นคนเข้มแข็ง เป็นคนกล้าตัดสินใจ เป็นคนใจร้อน หรือ
เป็นคนสุขุมนิ่มนวล สถานการณ์ สิ่งแวดล้อม ทีมงาน และคนในหน่วยงาน
จะเหมาะสมกับสภาพปัญหาและการเติบโตของหน่วยงานนั้นหรือไม่ ผู้บริหารมีบุคลิก แนวคิด วิธีการบริหาร
เหมาะสมกับหน่วยงานหรือไม่
4. Know
the experience รู้ประสบการณ์
ก่อนจะส่งผู้บริหารไปสู่ตำแหน่งใด
จะต้องรู้ว่าผู้บริหารมีประสบการณ์ในการบริหารอย่างไร ทั้งประสบการณ์ที่เป็นความสำเร็จ
และประสบการณ์ที่เป็นความล้มเหลว ถ้าประสบการณ์ที่มี เข้าได้กับบริบทของหน่วยงานที่ผู้บริหารจะไปรับผิดชอบ
จะมีโอกาสใช้ประสบการณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เข้าไปรับผิดชอบ
โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีมาก
5. Know
the resource รู้ทรัพยากร
ก่อนจะส่งผู้บริหารไปสู่ตำแหน่งใหม่
ต้องรู้ว่าหน่วยงานมีทรัพยากรอะไรบ้าง ขาดทรัพยากรอะไรบ้าง
ถ้าส่งผู้บริหารที่มีฝีมือไปอยู่ในหน่วยงานที่ไม่มีทรัพยากรสนับสนุนการทำงานของเขา
ผู้บริหารไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ เป็นเสมือนขุนพลที่ขาดกำลังพล ขาดอาวุธ
ขาดเสบียง จะนำทัพเข้าสมรภูมิไม่ได้ เพราะโอกาสชนะคู่ต่อสู้มีน้อยมาก เป็นการส่ง “The
right man in to the wrong place” เป็นการส่งผู้บริหารไปสู่ความล้มเหลว
George Bernard
Shaw กล่าวว่า “Power does not corrupt men; fools, however,
if they get into a position of power, corrupt power” อำนาจไม่ได้โกงคน
คนโง่ต่างหากที่โกงอำนาจ ถ้าคนโง่ได้ไปอยู่ในตำแหน่งแห่งอำนาจ J
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น