วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2559

GDP ที่ต้องคิดเพิ่ม

“Lazy people should learn a lesson from the way ants live. They have no leader, cheif, or ruler, but they store up their food during the summer, getting ready for winter.”     Proverbs 6:6-8

เราได้ยินนักเศรษฐศาสตร์พูดอยู่เสมอว่าประมาณการเศรษฐกิจของประเทศปีนี้จะเติบโตในอัตรากี่เปอร์เซนต์ โดยใช้ Gross Domestic Product หรือเรียกจนติดปากว่า GDP เป็นเครื่องมือในการวัดและเปรียบเทียบ และเรามักได้ยินนักการเมืองอวดอ้างบ่อยๆว่า สามารถว่าทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตได้โดยอ้างเจ้า GDP อีกเช่นกันว่าเศรษฐกิจเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์  รวมทั้งองค์การ สถาบันการเงิน และเศรษฐกิจทั้งหลายต่างใช้ GDP เป็นมาตรฐานการวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติคิดจากผลรวมของการบริโภค( Consumption) ภายในประเทศ การลงทุน (Investment) และการใช้จ่ายงบประมาณ ของรัฐบาล บวกตัวเลขการส่งออก และลบตัวเลขการนำเข้า ได้ตัวเลขออกมาคิดเป็น เปอร์เซนต์ ว่าเติบโตขึ้นหรือลดลงกี่เปอร์เซนต์ โดยทั่วไปจะนำตัวเลขไปวิเคราะห์ เปรียบเทียบว่า เศรษฐกิจประเทศอยู่ในสภาพอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านไป หรือเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

มาในระยะหลังๆนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย ประเทศในยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น ต่างมีตัวเลข GDP ต่ำติดต่อกันหลายปี จึงมีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง หลายคนเช่น  Joseph Stiglitz, Michael Spence และ Amartya Sen เริ่มตั้งคำถาม เกี่ยวกับการใช้ตัวเลข GDP ว่า นอกจากใช้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจในมิติแบบที่ใช้ วัดกันมาหลายสิบปีแล้ว การวัด GDP น่าจะสะท้อนอะไรได้มากกว่ามิติเดิมๆหรือเปล่า เนื่องจากว่าบริบทโลกในปัจจุบันมันเปลี่ยนไปจากเดิมมากและเปลี่ยนแปลงอย่างรวด เร็วด้วย โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวทางตัวเลขประชากร ที่มีการเคลื่อนย้ายไปมาตลอดเวลา รายได้ของประชากรที่สูงขี้นอย่างไม่เท่าเทียมกัน และการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม


เราเข้าใจและรับรู้กันมานานแล้วว่า ตัวเลข GDP มีความเชื่อมโยงกับบริบทสภาพแวด ล้อมของประเทศ เช่น คุณภาพการศึกษา คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน การทำงาน ของกลไกตลาด การว่างงาน และ เรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง แต่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ ได้เริ่มคิดไปไกลกว่ามิติที่เคยใช้วัด GDP กัน (Beyond GDP) คือสนใจมุมมองในมิติ เรื่อง สวัสดิภาพ (Welfare) ความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศมากขึ้น เช่น

การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีผลต่อการสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติอย่างไร ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือไม่ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ดีขึ้นหรือไม่ และ
เทคโนโลยีที่นำใช้ช่วยทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นมิตรกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมหรือไม่

ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่การวัด GDP ที่ผ่านมาไม่เคยนำมาคิดพิจารณา แต่จากนี้ไปคงต้อง คิดในมุมมองใหม่เพิ่มขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ สภาพสิ่งแวดล้อมทางกายภาพกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผล
กระทบทั่วโลก


เรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังในการใช้ GDP เป็นเครื่องมือวัดการเติบโต ทางเศรษฐกิจ คือจะต้องพิจารณาด้วยว่ากระบวนการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมและมีส่วนได้รับผลประโยชน์ (Inclusiveness) หรือไม่ โดยจะต้องพิจารณาด้วยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเป็นมิตรเกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ การลงทุนทางเทคโนโลยีได้ช่วยทำให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้นหรือไม่ และการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ช่วยสนับสนุนให้โลกนี้มีพื้นที่ สีเขียวเพิ่มขึ้นหรือไม่

ต่อไปนี้คือคำถามในการวัด GDP ซึ่งในเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้คำนึงถึงประเด็นเหล่านี้

การเติบโตนั้นยุติธรรมหรือไม่ Is growth fair?


การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive growth) เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะปรากฎว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจและการพัฒนา OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) ประเทศส่วนใหญ่ยังคงมีความไม่เท่าเทียมกัน (Inequality) ทางเศรษฐกิจสูง ประเด็นที่ต้องพิจารณาทำการแก้ไขคือ เรื่องการศึกษา เรื่องอาชีพ การงาน และเรื่องโอกาสที่เท่าเทียมกันของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศจะ ทำอย่างไร ทื่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น 

นักวิจัยของ IMF และ OECD เริ่มศึกษาและวัดผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อ การทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจช้าเพราะมีผลทำให้ประชาชนมีการบริโภคต่ำ (Lower consumption) และในกรณีที่มีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ มากๆอาจจะทำให้เกิดความไม่สงบทางสังคมขึ้นได้ ดังเช่นที่เราได้เห็นปรากฏการณ์การ ลุกฮือของชาวอาหรับที่เรียกว่า Arab Spring มาแล้ว และการแสดงออกซึ่งความไม่พึงพอใจของประชาชนอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงไม่ควรมองเฉพาะมุมมองผลผลิตมวลรวมว่า ผลิตได้มากเท่าไหร่ (How much is produced?)  แต่ต้องดูด้วยว่าผลที่ได้จากการผลิตได้ถูกกระจายอย่างไร? (How the gains are distribututed?) และการเติบโต ทางเศรษฐกิจได้ทำให้มาตรฐานชีวิตของคนส่วนใหญ่ ดีขึ้นหรือไม่ คนกลุ่มน้อยได้รับผลประโยชน์จากการผลิตมากกว่าคนกลุ่มใหญ่หรือไม่ รวมทั้งต้องดูด้วยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นมีความเป็นธรรมกับคนในรุ่นต่อไปหรือไม่ เช่นมีการสร้างภาระหนี้สินจำนวนมากให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไปในอนาคตหรือเปล่า เพราะในเวลานี้ระบบสวัสดิการเงินบำนาญที่จ่ายให้แก่ผู้เกษียณการทำงานของรัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลก กำลังจะล้มละลายเพราะไม่มีเงินพอจ่ายในอนาคต

การเติบโตนั้นเป็นสีเขียวหรือไม่? Is growth green?

วิธีหนึ่งที่จะมั่นใจได้ว่าเราไม่ได้ใช้ชีวิตบนเงินของอนาคตคือการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานการเป็นเศรษฐกิจสีเขียวให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เราไม่สามารถดูการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉพาะ ด้านการผลิตว่าเราผลิต ได้เท่าไหร่? แต่ต้องดูว่าเรามีกระบวนการผลิตอย่างไรด้วย และกระบวนการผลิตของเราได้สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติหรือไม่? คือต้องพิจารณาดูวงจรการผลิต ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ว่ามีส่วนหนึ่งส่วนใดที่สร้างผลกระทบทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า?

ตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยเวลานี้คือเรื่องการบุกรุกที่ดินป่าไม้ทำลายธรรมชาติเพื่อปลูกพืชผลการเกษตร จนพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายเกือบหมดประเทศแล้ว การเผาพื้นที่เพื่อเตรียมการเพาะปลูกในฤดูต่อไป ทำให้เกิดความร้อนและหมอกควันกระจายคลุมเมือง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลและประชาชนต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมหาศาลต่อปี และอาจมีคนป่วยเป็นมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลต้องใช้เงินภาษีประชาชนจ่ายเป็นค่ายาค่ารักษาประชาชนที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาล หรือประชาชนที่ต้องควักเงินซื้อยาเอง หรือต้องลาหยุดงานเพราะแพ้ฝุ่นละออง หรือ รัฐบาลต้องเสียเงินงบประมาณใช้เครื่องบินและเจ้าหน้าที่ทำฝนเทียม เพื่อช่วยลดพื้นที่ที่เกิดไฟเผาป่า เป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ไม่นับมูลค่าทางจิตใจที่ประชาชนมีชีวิตที่ไม่เป็นปกติสุขในช่วงที่หมอกควันปกคลุมเมืองสองสามเดือน บริษัทที่ทำธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงจรการบุกรุก พื้นที่ป่า และการเผาป่า จะมีส่วนรับผิดชอบอย่างไรบ้างในฐานะที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการบุกรุกป่าและเผาป่าทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จนเกิดหมอกควันเป็นประจำทุกปี


ถ้าเราคิดอย่างให้ความเป็นธรรมต่อลูกหลานของเราจะมองเห็นความโหดร้ายอำมหิต อย่างมากที่ซ่อนอยู่ในธุรกิจนี้ เพราะการสร้างผลกำไรบนธุรกิจนี้ไม่ได้เพียงทำร้ายคนที่ได้รับผลกระทบในเวลาปัจจุบัน แต่กำลังทำร้ายโอกาสและชีวิตของลูกหลานของเราในอนาคตไปแล้ว ลูกหลานของเราจะอยู่อย่างไร ในอนาคตเมื่อประเทศไม่มีป่าไม้สีเขียว ไม่มีน้ำใสสะอาดในแม่น้ำ ไม่มีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ แล้วลูกหลานของเราในอนาคต จะต้องสูญเสียเงินอีกมากมายมหาศาลเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้ดีกลับคืนมา เรากำลังบริโภคกันอย่างสิ้นคิดโดยไม่ได้คิดถึงชีวิตของลูกหลานเราในอนาคตเลยหรือ?

การเติบโตนั้นทำให้ชีวิตเราดีขึ้นหรือไม่? Is growth improving our lives?

รูปแบบการทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรมสามารถกระทำได้ถ้าจิตใจของเจ้าของธุรกิจมีธรรมะ จิตใจที่มีธรรมะย่อมมีเมตตา และจะเกิดความรู้สึกบาปที่ทำร้ายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและทำร้ายเพื่อนมนุษย์ การทำธุรกิจสามารถทำธุรกิจบนพื้นฐานการสร้างเศรษฐกิจอย่างแบ่งปัน (Sharing Economy) ได้ ถ้าเจ้าของธุรกิจมีธรรมะในจิตใจ รู้จักคิดถึงความทุกข์ ความสุขของผู้อื่น จะทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม และจะไม่ใช้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจเอาเปรียบพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กที่ด้อยความสามารถทางเศรษฐกิจ บริษัทจะไม่ทำธุรกิจด้วยการแย่งสินค้าอาชีพของผู้ด้อยโอกาสมาทำขายเสียเอง โดยใช้ความได้เปรียบทางความรู้  เทคโนโลยี การเงิน และการตลาด เอาเปรียบจนทำให้พ่อค้าแม่ค้ารายเล็กๆขายแข่งขันไม่ได้ จนต้องเลิกค้าขาย ไม่มีอาชีพทำให้เดือดร้อนกันทั้ง ครอบครัว การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี จึงควรกระจายมูลค่าและคุณค่าให้ทุกภาคส่วน ของสังคมได้รับประโยชน์โดยทั่วถึงกัน เป็นเศรษฐกิจที่เฉลี่ยความสุขให้กับสังคม ไม่ใช่เศรษฐกิจที่สร้างความได้เปรียบให้คนกลุ่มน้อย และเฉลี่ยความทุกข์ยากลำบากให้คนส่วนใหญ่ในสังคมที่ด้อยโอกาสกว่า อย่างที่พวกเรากำลังประสบในสังคมไทยเวลานี้


บทสรุปของเรื่องที่เขียนวันนี้ไม่ได้หวังว่ามหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่จะกลับใจเหมือนมหาเศรษฐีระดับโลกหลายคนที่เมื่อเขาร่ำรวยมีเงินมหาศาลแล้ว เขาสำนึกถึงความรับผิดชอบที่เขาต้องมีต่อสังคมและธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของโลก แล้วบริจาคเงินจำนวนมหาศาลเพื่อช่วยเหลือสังคม ฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แต่อยากกระตุ้นให้เรามองเห็นความหายนะของประเทศชาติ และความลำบากเดือดร้อนของลูกหลานเราในอนาคต การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้สำคัญที่ตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องคิดถึงความสุขของคนส่วนใหญ่ และอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศด้วย


ขอจบด้วยคำพูดของมหาเศรษฐีใจประเสริฐระดับโลกที่บริจาคเงินจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อช่วยเหลือสังคม Warren Buffett ที่กล่าวว่า “I just think that - when a country needs more income and we do, we're only taking in 15 percent of GDP, I mean, that - that - when a country needs more income, they should get it from the people that have it.” ข้าพเจ้าเพียงแต่คิดว่า เมื่อประเทศต้องการมีรายได้ เพิ่มขึ้น และประเทศเราต้องการจริงๆด้วย เราเพียงให้เพิ่ม 15 เปอร์เซนต์ของ GDP ข้าพเจ้าหมายถึงว่า เมื่อประเทศต้องการรายได้เพิ่มขี้น ก็ควรจะเอาจากคนที่มีให้


ความหมายของท่านมหาเศรษฐี Warren Buffett คือ ถ้าประเทศเงินไม่พอใช้ ให้เรียกเก็บภาษีจากคนรวยที่มีเงินจ่ายเลยครับ

คิดได้ยังไง น่ารักจัง


ปล. ในวาระดิถีปีใหม่ไทย ตามประเพณีคนเมืองเหนือ ขอถือโอกาสนี้สูมาลาโทษ ท่านผู้อ่านด้วย ถ้าได้เขียนอะไรไปแล้วทำให้ท่านไม่พอใจ หรือไม่สบายใจ ขอได้โปรดยกโทษให้อภัยแก่ผมด้วย เพราะอาจจะมีอารมณ์ ความรู้สึกพาไป เวลาเขียนเหมือนกันครับ


แหล่งที่มาความคิด: What is GDP, and how are we missing use it?
World Economic Forum

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น