วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ความสามารถในการแข่งขันของไทย



“The hopes of good men lead to joy, but wicked people can look forward to nothing. The Lord protects honest people, but destroys those who do wrong.”

Proverbs 10:28-29
 
 
ดูการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์แล้วต้องให้กำลังใจนักกีฬาไทยที่แสดงความสามารถและศักยภาพของคนไทยออกมาให้ปรากฏว่าไม่ได้ด้อยกว่าชาติใดๆในเอเซีย กีฬาหลายประเภทนักกีฬาไทยได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ เหนือความคาดหมายเอาชนะคู่แข่งขันได้ด้วยฝีมือและประสบการณ์จริงๆ กีฬาประเภทที่ยังสู้คู่แข่งขันไม่ได้ นักกีฬาไทยไม่ได้มีความสามารถด้อยกว่าผู้ชนะมากนัก แสดงให้เห็นถึงเนื้อแท้คนไทยที่มีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัวอย่างมากมาย เพียงแต่การพัฒนาขีดความสามารถของคนไทยยังไปไม่ถึงจุดสูงสุด คนไทยยังมีโอกาสการพัฒนาศักยภาพอีกมาก และ เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนของประเทศไทยในการพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้มีความสามารถในการแข่งขัน
 
 
The Global Competitiveness Index Rankings เป็นการจัดอันดับดรรชนีความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆทั่วโลก เป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้นำประเทศทั่วโลกนำไปใช้ในการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ของประเทศ หน่วยงานผู้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนำข้อมูลไปวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและกำหนดนโยบายรัฐบาลในการบริหารประเทศ ดรรชนีความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆในโลก ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2005 และได้รับการยอมรับทั่วโลก และในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการจัดทำดรรชนีความสามารถโลกนี้ World Economic Forum ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาและจัดทำโดยใช้เวลาถึง 2 ปีในการศึกษาข้อมูลของประเทศต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทำการศึกษาวิจัยจากสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกมากกว่า 160 แห่ง ในการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านการศึกษา นักบริหาร และผู้นำธุรกิจจำนวนมากทั่วโลก รวมทั้งได้จัดการประชุมสัมนา Forum’s Annual Meeting ที่เมือง Davos เมื่อเดือน มกราคม 2014 และจัดการสัมนาเชิงปฏิบัติการของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆที่เมือง Geneva เมื่อเดือนมิถุนายน 2014 เพื่อกำหนดปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รายงานการศึกษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆทั่วโลกฉบับนี้ ได้ศึกษาเศรษฐกิจของ 144 ประเทศทั่วโลก มีรายละเอียดข้อมูลการศึกษาของแต่ละประเทศ และมีตัวชี้วัดเรื่องต่างๆมากกว่า 100 ตัวชี้วัด เป็นรายงานที่พิมพ์เผยแพร่ในเครือข่าย Forum’s Global Competitiveness and Benchmarking Network ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ศึกษาเรื่องสำคัญต่างๆที่สนับสนุนการพัฒนาความสามารถของประเทศต่างๆแบบองค์รวม เนื่องจากโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น
รายงานความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆจากการศึกษานี้ ประกอบด้วยรากฐานสำคัญของความสามารถในการแข่งขัน 12 รากฐาน (12 pillars of competitiveness) ดังนี้

1.  Institutions
หมายถึงโครงสร้างการปกครองและกฏหมายที่ใช้ในประเทศ ซึ่งมีผลต่อ ประชาชน บริษัท ธุรกิจ องค์กรและรัฐบาลในการสร้างความมั่งคั่งของประเทศ เพราะคุณภาพของโครงสร้างการปกครองและกฏหมาย มีผลต่อการลงทุนในประเทศ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ต้นทุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และผลผลิตของประเทศ เช่น ประเทศที่มีโครงสร้างการปกครองและกฏหมายที่ด้อยคุณภาพ ทำให้มีปัญหาการคอร์รัปชั่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีธรรมาภิบาลในบริหารจัดการ มีขั้นตอนกฏหมายมากเพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาผลประโยชน์ มีความไม่โปร่งใส ใช้กฏหมายมากเกินความจำเป็น นโยบายการเงิน การคลังสาธารณะไม่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน รวมทั้งมาตรฐานระบบการบัญชี และ ระบบการตรวจสอบไม่มีความน่าเชื่อถือ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งสิ้น

2.  Infrastructure
โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการ เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะลดระยะเวลาการเชื่อมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจต่ำ เกิดการบูรณาการทางธุรกิจ และลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองกับชนบท เช่น โครงข่ายการโทรคมนาคม ถนน เส้นทางรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน ระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ การสื่อสาร เป็นสิ่งจำเป็นและทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางธุรกิจการค้า การลงทุน อย่างรวดเร็ว เพราะการลงทุนทางธุรกิจต้องมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและมีประสิทธิภาพรองรับเพื่อประสิทธิภาพของการทำธุรกิจ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุน เกิดการจ้างงาน ทำให้เงินหมุนเวียน เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

3.  Macroeconomic environment
เศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนทางธุรกิจและมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป ทำให้ธุรกิจไม่สามารถขยายตัวลงทุนเพิ่ม อัตราเงินเฟ้อสูงทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น งบประมาณรัฐบาลขาดดุลมากทำให้ประเทศไม่มีเงินไปลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในอนาคต หนี้สาธารณะของประเทศมากเกินไป ทำให้ขาดความเชื่อถือในระบบการเงินและค่าของเงิน ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนและการขยายธุรกิจซึ่งเป็นฐานของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายด้านการเงินและการคลังของประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก หากไม่มีเสถียรภาพ ประเทศไม่สามารถพัฒนาความสามารถการแข่งขันที่ยั่งยืนได้

4.  Health and primary education
การศึกษาขั้นพื้นฐานและสุขภาพของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งของการพัฒนาความสามารถของประเทศ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นต้องมีแรงงานที่มีคุณภาพในการเพิ่มผลผลิต (Productivity) ของประเทศ คือต้องมีแรงงาน (Workforce) ที่มีความรู้ ทักษะ และ มีสุขภาพที่แข็งแรงดีด้วย เพราะเรื่องการเจ็บป่วยของแรงงานเป็นต้นทุนหนึ่งในการทำธุรกิจ การให้การศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและอย่างมีคุณภาพ เป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพของแรงงานที่เข้ามาสู่ระบบการผลิต แรงงานที่มีความรู้ สามารถพัฒนาฝีมือการทำงานได้เร็ว ทำงานได้หลายทักษะ ความผิดพลาดในการทำงานน้อย แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ปรับตัวได้ และ เข้าใจเรื่องสุขภาพอนามัย ทำให้มีประสิทธิภาพในการสร้างผลิตผล ประเทศสามารถยกระดับการผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ มีผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น

5.  Higher education and training
คุณภาพของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวขึ้นไปสู่เศรษฐกิจในระดับสูงขึ้น เช่น เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge based economy) หรือ เศรษฐกิจฐานดิจิตอล (Digital based economy) เพราะเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องการใช้แรงงาน (Labor intensive) และกระบวนการผลิตธรรมดา (Simple production) ให้มูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยกว่า และมีการแข่งขันสูง คุณภาพของระบบการศึกษาในระดับสูงจึงสำคัญมากต่อการเตรียมคนที่มีความรู้ความสามารถรองรับการพัฒนาความสามารถของประเทศ และการพัฒนาความรู้และทักษะของคนในปัจจุบันต้องทำอย่างต่อเนื่อง (Lifelong learning) จึงจะทำให้ประเทศสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจโลกได้

6.  Goods market efficiency
ประเทศที่มีตลาดสินค้าที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน ตลาดสินค้าที่มีประสิทธิภาพ หมายถึง ประเทศมีตำแหน่งทางการตลาดที่ดี คือผลิตสินค้าที่ขายได้ ให้บริการที่มีความต้องการ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง สินค้าและบริการของประเทศสามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นๆโดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงให้การช่วยเหลือ เหมือนอย่างที่เป็นปัญหาของประเทศไทยในเวลานี้ ที่สินค้าการเกษตรเช่น ข้าว ยางพารา ขายไม่ได้ และสินค้าส่งออกอื่นๆขายยากขึ้น เพราะตลาดสินค้าของประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ สินค้าที่ผลิตไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ราคาสินค้าไม่ตอบสนองต่ออุปสงค์และอุปทานของตลาด จนรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากลักษณะตลาดสินค้าโลกในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปตามความเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจที่พึ่งพิงกัน (Interdependence of economies) ระหว่างประเทศ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรปมีปัญหา เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในเอเซียด้วย ประเทศจึงต้องไวต่อการปรับตลาดสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพในการแข่งขันได้
 
          วันนี้ขอเสนอรากฐานความสามารถในการแข่งขัน 6 ประการก่อน ที่เหลือจะนำเสนอต่อในฉบับต่อไปครับ
          ก่อนจบ ขอฝากข้อคิดดีๆของ Julia Gillard อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศออสเตรเลียที่กล่าวว่า “Our future growth relies on competitiveness and innovation, skills and productivity...and these in turn rely on the education of our people.”
การเติบโตในอนาคตของ (ประเทศ) เราขึ้นอยู่กับนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขัน ทักษะและผลิตภาพ...และทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนของเรา
ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพการศึกษาของประชาชน

ขอบคุณที่กรุณาอ่านจนจบ และขอบคุณที่จะช่วย Share ต่อให้เพื่อนอ่าน
สมชัย ศิริสุจินต์
๔ ตุลาคม ๒๕๕๗
http://somchaiblessings.blogspot.com
 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น