วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

Change (2)




“He sets the time for birth and the time for death, the time for planting and the time for pulling up, the time for killing and the time for healing, the time for tearing down and the time for building.”                                                        Ecclesiastes 3:2-3

ได้เขียนปูทางไว้ในบทความก่อนว่ามีแรงขับเคลื่อนจากภายนอกและภายในประเทศที่ทำให้สังคมไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของสังคมทุกสังคมที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามกาลเวลา จะแตกต่างกันตรงที่รูปแบบการเปลี่ยนแปลง ว่ามีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร การเปลี่ยนแปลงบางครั้งมีผลกระทบที่รุนแรง กว่าจะปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ได้ใช้เวลายาวและอาจมีความเสียหายเกิดขึ้นได้ การเปลี่ยนแปลงที่ดีควรมีผลกระทบน้อยไม่รุนแรง ไม่เกิดความเสียหายมากจนเกินไป และใช้เวลาการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพในเวลาไม่นาน
          ในยุคเทคโนโลยีภิวัฒน์นี้ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าเดิมมาก และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนอย่างตลอด เพราะ

ความรู้ (Knowledge)
ความรู้ที่เคยถูกจำกัดอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ได้ไหลบ่าเข้ามาอยู่ในรั้วบ้าน การเข้าถึงวิชาการที่เคยถูกกักพื้นที่ไว้ในห้องสมุด บัดนี้สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่แห่งหนใดในโลก โดยไม่จำกัดว่าจะอยู่ที่ร้านกาแฟ ห้องอาหาร บนรถไฟฟ้า หรือบนเรือกลางมหาสมุทร การเข้าถึงความรู้ที่ง่ายขึ้นและรวดเร็วมากขึ้นทำให้คนมีความรู้ มีความเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ความไม่แน่นอน  (Uncertainty)
การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยี และเงินลงทุน เป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพราะการคาดการณ์หรือการพยากรณ์ (Predictability) ใดๆ แม้จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นเพราะมีเทคโนโลยีช่วย แต่ระยะเวลาของการคาดการณ์หรือพยากรณ์กลับสั้นลง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะสังคมปัจจุบันเป็นพลวัตร (Dynamic) ที่ไม่อยู่นิ่ง เป็นสังคมมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดกระแสสังคมได้อย่างรวดเร็ว

เศรษฐกิจเปิด (Open Economy)
การค้า การลงทุน เปิดกว้าง มีเสรีภาพมากขึ้น เงินลงทุนสามารถไหลเข้าไหลออกประเทศได้อย่างค่อนข้างอิสระ การจำกัดสิทธิ หรือการกีดกันทางการค้า ถ้าทำอย่างไม่แนบเนียนจะถูกสังคมโลกกดดันตอบโต้ ความโปร่งใสในการทำธุรกิจ และการค้าอย่างเสรี (Free trade) ทำให้ทุกภูมิภาคเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง (Hyper-competition) เป็นแรงขับเคลื่อนที่กดดันให้ทุกสังคม ทุกรัฐบาล ทุกประเทศ ต้องปรับตัว และเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ถ้าเปลี่ยนแปลงช้า ย่อมเสียโอกาสและตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในเวทีการแข่งขัน

การพึ่งพาทางธุรกิจ (Interdependency of business)
การแข่งขันอย่างรุนแรงทำให้ธุรกิจไม่สามารถยืนหยัดต่อสู้ในเวทีการแข่งขันตามลำพังด้วยตนเอง เพราะธุรกิจต้องแสวงหาความเป็นเลิศในคุณภาพของสินค้า ผลิตภัณฑ์และบริการ โดยราคาต้องแข่งขันได้ จึงต้องมีต้นทุนต่ำ ทำให้ธุรกิจต้องแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนจุดแข็งร่วมกัน และไม่โจมตีจุดอ่อนของคู่มิตรทางธุรกิจเพื่อแสวงหาผลตอบแทนร่วมกัน (Win-Win) การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นเพราะแรงขับเคลื่อนในการต้องพึ่งพากันทางธุรกิจ เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจการค้าและการลงทุน ทำให้อาเซียนเป็นตลาดที่โตขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น และมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆได้

ความต้องการของลูกค้า  (Customer Demand)
ขงจื้อ ปราชญ์ชาวจีนกล่าวไว้นานมาแล้วว่า ความสามารถของมนุษย์ไม่สามารถตามทันความต้องการอยากได้ของมนุษย์ได้ (Ability will never catch up with the demand for it.) เป็นความจริงที่ความต้องการของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความต้องการอยากได้เกิดขึ้นอย่างไม่รู้สิ้นสุด ทำให้เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น เป็นความต้องการของผู้บริโภค หรือความต้องการของลูกค้านั่นเอง

ระเบียบและมาตรฐาน (Regulation and Standard)
เมื่อสังคมโลกเปิดกว้าง การค้า การลงทุน การทำธุรกิจเกือบจะไร้พรมแดน ทำให้ต้องมีระเบียบมาตรฐานเข้ามาควบคุมเพื่อความปลอดภัย และคุ้มครองสิทธิซึ่งกันและกัน ทั้งผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้บริโภค เป็นแรงขับเคลื่อนทำให้องค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชน แทบทุกสาขา ต้องมีระเบียบและมาตรฐานที่นานาชาติรับรอง ต้องมีองค์กรระดับสากลมาตรวจประเมิน และให้ใบรับรองมาตรฐาน จึงจะเป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องดี แม้จะมีค่าใช้จ่าย แต่ช่วยพัฒนามาตรฐานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง Henry Ward Beecher กล่าวว่า “Hold yourself responsible for a higher standard than anybody expects of you. Never excuse yourself.” เราต้องทำให้ตัวเองมีความรับผิดชอบสูงกว่ามาตรฐานที่คนเขาคาดหวังจากเรา อย่าหาเหตุผลมาแก้ตัวในเรื่องนี้

เทคโนโลยี (Technology)
เทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้น และวงจรของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสั้นลงเรื่อยๆ เทคโนโลยีใหม่ออกมาทับเทคโนโลยีเก่าตลอดเวลาเหมือนระลอกคลื่นในทะเล เป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีผลต่อการลงทุนใหม่เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย ความมีประสิทธิภาพ และความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด แม้แต่อัจฉริยะอย่าง Albert Einstein ก็ยังกลัวเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ดังที่ท่านได้กล่าวว่า “It has become appallingly obvious that our technology has exceeded our humanity.” เป็นความจริงอันน่าสยดสยองที่เทคโนโลยีได้ก้าวเกินความเป็นมนุษยชาติไปแล้ว

ราคาที่อ่อนไหว (Price sensitivity)
ราคามาคู่กับการแข่งขัน สินค้าและบริการ แทบทุกอย่าง ทุกชนิด มีคู่แข่งขันรออยู่ในสนามแข่งขันแล้ว และมีผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นคู่แข่งขันรายต่อไปยืนรออยู่ข้างสนาม รอจังหวะเหมาะที่จะกระโจนเข้าสู่สนามแข่งขัน ราคาจึงมีผลต่อการซื้อขายเสมอ และเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อให้มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ สินค้าและบริการที่ไม่ตอบสนองต่อความอ่อนไหวของราคา ส่วนใหญ่อยู่ในสนามแข่งขันได้ไม่นาน Warren Buffett เศรษฐีอันดับต้นๆของโลกที่ใจบุญบริจาคเงินมากเป็นอันดับต้นๆของโลกเช่นกันกล่าวสั่งสอนลูกน้องของเขาว่า “Price is what you pay. Value is what you get.” ราคาคือสิ่งที่คุณจ่าย คุณค่าคือสิ่งที่คุณได้ เพราะเรื่องคุณค่านี้แหละราคาจึงเป็นเรื่องอ่อนไหว ถ้าคนไม่เห็นคุณค่าสมราคา คนก็ไม่ซื้อสินค้าหรือบริการ

โอกาสใหม่ (New opportunity)
โอกาสใหม่เกิดขึ้นเสมอถ้าเราแสวงหา การที่เราตกเป็นทาสของความคิดเก่า และเสพย์ติดความเคยชินกับสิ่งเดิม ทำให้โลกทัศน์และกระบวนทัศน์ของเราไม่เปลี่ยนแปลง เกิดความเฉื่อยชาในการแสวงหาโอกาสใหม่ สำหรับผู้ที่ไม่ยึดติดกับสิ่งเก่า โอกาสใหม่เป็นแรงขับเคลื่อนความคิดให้แสวงหานวัตกรรม หาเส้นทางเดินใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยเดิน มองหาขอบฟ้าใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยมองเห็น กระตุ้นความคิดและจินตนาการใหม่ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและพลังใหม่ในการแสวงหาโอกาสใหม่ที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นกว่า 

ประธานาธิบดี John F. Kennedy กล่าวว่า “Change is the law of life. And those who look only to the past or present are certain to miss the future.” การเปลี่ยนแปลงเป็นกฎของชีวิต และบรรดาผู้ที่มองเพียงแค่อดีตหรือปัจจุบัน แน่นอนว่าเขาจะพลาดอนาคต

อนาคตอยู่ในกำมือของท่าน อยู่ที่ว่าท่านจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ปล: ขออภัยที่หายไปเยี่ยมยุโรป ทั้งสัปดาห์ กลับมาเพิ่งได้สติเขียนครับ
อ่านแล้วรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลง ช่วยบอกเพื่อนด้วยนะครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น