วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

ผู้นำผู้รับใช้



Keep my teaching with you all the time; write it on your heart.
 Treat wisdom as your sister, and insight as your closest friend.         Proverbs 7:3-4


ผู้นำผู้รับใช้ (Servant leader) เป็นแนวคิดใหม่ที่มีพื้นฐานความคิดมาจากการกระทำของพระเยซูคริสต์ในค่ำวันหนึ่ง ขณะที่พระเยซูคริสต์นั่งรับประทานอาหารร่วมกับลูกศิษย์ของพระองค์ โดยไม่มีใครคาดหมายพระเยซูคริสต์ทรงลุกขึ้นจากการรับประทานอาหารและถอดฉลองพระองค์ออกวางไว้ เอาผ้าเช็ดตัวคาดเอว แล้วเทน้ำจากเหยือกลงในอ่างน้ำ จากนั้นทรงก้มลงเอาเท้าของลูกศิษย์ล้างในอ่างน้ำแล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าเช็ดตัว ทรงล้างเท้าลูกศิษย์ทุกคนจนเสร็จ ท่ามกลางความงุนงงไม่เข้าใจของบรรดาลูกศิษย์ ซึ่งในเวลาต่อมา พระเยซูคริสต์ได้อธิบายให้ลูกศิษย์เข้าใจว่า ทรงกระทำเพื่อเป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติต่อไป เรื่องราวนี้ถูกบันทึกในพระคัมภีร์ ยอห์น บทที่ 13: 4 – 1
          


การกระทำของพระเยซูคริสต์ในเวลานั้น กระชากอารมณ์ความรู้สึกของลูกศิษย์อย่างรุนแรง เพราะธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมในเวลานั้น ผู้ที่มีหน้าที่ทำการล้างเท้าแขกผู้มาเยี่ยมเยือนบ้าน คือคนใช้ที่มีสถานะระดับต่ำสุดของบ้าน เพราะการล้างทำความสะอาดเท้าที่เป็นอวัยวะเบื้องล่างสุดของร่างกายถือเป็นงานที่ต่ำสุด การที่พระเยซูคริสต์ลดพระองค์ลงไปทำงานที่ต่ำสุดเป็นเรื่องที่ลูกศิษย์ของพระองค์รู้สึกรับไม่ได้ แต่พระเยซูคริสต์กระทำเพื่อต้องการสอนให้ลูกศิษย์ของพระองค์เข้าใจ และกำชับให้ลูกศิษย์ทุกคนต้องทำตามที่พระองค์ทรงสอนให้ได้ เพราะพระองค์ได้ทำเป็นตัวอย่างแล้ว

แม้สังคมจะเลิกธรรมเนียมปฏิบัติการล้างเท้าโดยคนใช้ไปแล้ว เพราะสังคมไม่แบ่งชนชั้นกันแล้ว แต่การประพฤติปฏิบัติตนแบบลดตัวลงไปทำอะไรให้คนที่ด้อยสถานะกว่ายังคงเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยปรากฏในสังคมปัจจุบัน เพราะเรายังคงมีอคติในความคิดของเราว่า นายต้องอยู่ในสถานะสูงกว่าลูกน้อง อาจารย์ต้องอยู่สูงกว่าลูกศิษย์ ผู้มีอาวุโสต้องมีสถานะอยู่เหนือกว่าผู้อ่อนอาวุโส คนมั่งมีเงินทองต้องมีฐานะทางสังคมสูงกว่าคนจน คนที่อยู่ในสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่าคือผู้ที่ต้องปรนนิบัติรับใช้ผู้ที่อยู่ในสถานะที่สูงกว่า

แนวคิดการเป็นผู้นำผู้รับใช้ (Servant Leader) ที่ผู้นำเป็นผู้ปรนนิบัติรับใช้ผู้มีฐานะต่ำกว่าแบบที่พระเยชูคริสต์ได้กระทำในสมัยของพระองค์ถูกนำมาศึกษาและประยุกต์ใช้ในการนำองค์กรและหน่วยงานสมัยใหม่โดย Robert K. Greenleaf ซึ่งทำงานเป็นผู้บริหารของบริษัท AT&Tนานถึง 38 ปี เมื่อเกษียณการทำงานในปี 1964 จึงหันมาทำงานเป็นที่ปรึกษา สอนหนังสือ และเขียนบทความเรื่อง The Servant as Leader ในปี 1970 และต่อมาในปี 1976 ได้พิมพ์หนังสือ Servant Leadership แนวคิดเรื่องผู้นำผู้รับใช้ของ Robert K. Greenleaf ถูกเผยแพร่กว้างขึ้น และได้รับความสนใจมากขึ้น

“The first and most important choice a leader makes is the choice to serve.” ทางเลือกแรก และเป็นทางเลือกที่สำคัญที่สุดที่ผู้นำต้องตัดสินใจเลือกคือ เลือกที่จะรับใช้ เป็นคำกล่าวประโยคทองของ Robert K. Greenleaf และเป็นหัวใจของแนวคิดการเป็นผู้นำผู้รับใช้ เพราะถ้าผู้นำไม่มีหัวใจที่จะรับใช้ผู้อื่นเขาไม่กล้าตัดสินใจเลือกการรับใช้มาเป็นอันดับแรก

แนวคิดผู้นำผู้รับใช้ แม้ว่าจะมีผู้บริหารขององค์กรและหน่วยงานต่างๆสนใจ แต่การจะนำไปใช้ปฏิบัติจริงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ระบบการบริหารงานที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันมานาน คือระบบอำนาจนิยมซึ่งเป็นการรวมศูนย์อำนาจการเป็นผู้นำที่คนคนเดียว (Autocratic leader) หรือการรวมศูนย์อำนาจการเป็นผู้นำตามระดับชั้น (Hierarchical leaders) ซึ่งผู้ที่อยู่ระดับต่ำกว่ามีหน้าที่ต้องยอมรับอำนาจและรับใช้ผู้ที่อยู่ระดับที่สูงกว่า แต่เนื่องจากการที่ Robert K. Greenleaf ได้มีโอกาสทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรและหน่วยงานที่สำคัญหลายแห่ง เช่นมหาวิทยาลัย Ohio และ MIT มูลนิธิ Ford  มูลนิธิ R. K. Mellon the American Foundation for Management Research กองทุน Lilly Endowment และบริษัท  Mead Corporation เป็นต้น ทำให้แนวคิดเรื่องผู้นำผู้รับใช้ของเขามีอิทธิพลพอสมควรต่อผู้นำผู้บริหารในองค์กรและหน่วยงานที่เขาให้คำปรึกษา และในปี 1964เพื่อทำการเผยแพร่แนวคิดผู้นำผู้รับใช้อย่างจริงจังมากขึ้น Robert K. Greenleaf ได้ก่อตั้งหน่วยงานชื่อ Center for Applied Ethics ที่เมือง Indianapolis  ซึ่งต่อมาในปี 1985 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Robert K. Greenleaf Center จนถึงปัจจุบันนี้

แม้ว่าแนวคิดของ Robert K. Greenleaf ไม่ได้แพร่หลายในแนวกว้างแบบไฟลามทุ่งแต่มีผลทางเชิงลึกเพราะนักคิด นักพูด นักวิชาการชั้นนำ อย่างเช่น Stephen Covey, Peter Senge, Max DePree, Margaret Wheatley, Ken Blanchard และอีกหลายคนได้นำแนวคิดของเขาไปกล่าวถึงในหนังสือที่พวกเขาเขียน และแนะนำแนวคิดนี้ในเวทีการสัมมนาต่างๆ ซึ่งมีผลทำให้แนวคิดผู้นำผู้รับใช้ค่อยๆแพร่ขยายต่อมาจนถึงเวลานี้

ผู้นำ (Leader) กับ ผู้รับใช้ (Servant) เป็นคำที่อยู่ตรงกันข้ามกันตามคติของคนทั่วไป ที่เชื่อและใช้มาตั้งแต่โบราณกาล เป็นคติที่มีคนสองฝ่ายที่อยู่คนละข้าง มีช่องว่างทางสถานะแบ่งแยกไว้ให้คนหนึ่งปฏิบัติและอีกคนหนึ่งรับการปฏิบัติ จนถึงสมัยที่พระเยซูคริสต์ ได้สอนแนวคิดใหม่ การเป็นผู้นำผู้รับใช้ ให้ลูกศิษย์ด้วยการล้างเท้าให้ลูกศิษย์ เป็นการปฏิวัติความคิดตามคติเดิมอย่างกลับด้าน คือผู้นำ กับ ผู้รับใช้ เป็นคนๆเดียวกัน ไม่แยกฝ่าย ไม่แยกข้าง ไม่แยกสูงและต่ำ อีกต่อไป ผู้นำผู้รับใช้ จึงต้องเป็นผู้นำที่ต้องเป็นผู้รับใช้ผู้อื่นก่อน (Servant leader is one who is a servant first.)

Robert K. Greenleaf เสนอแนวคิดตามแบบพระเยซูคริสต์ให้ผู้นำรับใช้ผู้อื่นก่อน คือการรับใช้บุคลากร (Employees) ลูกค้า (Customers) และชุมชน (Community) ด้วยการให้บริการ ให้การส่งเสริมคนอื่น ให้อำนาจในการตัดสินใจแก่คนอื่น ฟังและเข้าใจความจำเป็นของผู้อื่นมากขึ้น และทำให้ความจำเป็นของผู้อื่นได้รับการตอบสนองก่อน (First to make sure that other people’s highest-priority needs are being served.) การนำในลักษณะผู้นำผู้รับใช้ Robert K. Greenleaf เชื่อว่าถ้าสังคมได้นำเอาแนวคิดนี้มาปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในองค์กรที่แสวงหากำไร และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ในระยะยาวจะมีผลดีแก่สังคมทำให้คนในชุมชนมีความสุขมากขึ้น มีความอิสระมากขึ้น ลดความกดดัน และมีสุขภาพดีขึ้น

ต่อไปนี้เป็นคุณลักษณะ (Characteristic) ของผู้นำผู้รับใช้ตามแนวคิดของ Robert K. Greenleaf

Listening
ฟังก่อน คือ คุณลักษณะสำคัญประการแรกที่ผู้นำผู้รับใช้ต้องมี เพราะถ้าผู้นำไม่รู้จักฟัง หรือฟังไม่เป็น ก็จะไม่เข้าใจความจำเป็นหรือความต้องการของผู้อื่น แล้วจะไปรับใช้คนอื่นเขาได้อย่างไร Merge Piercy กล่าวว่า “If you want to be listened to, you should put in time listening.” ถ้าคุณอยากให้คนอื่นฟังคุณ คุณต้องให้เวลาในการฟังคนอื่น การฟังที่ดีคือการฟังอย่างตั้งใจ และเข้าใจในสิ่งที่เขาพูด

Empathy
เมื่อฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจแล้ว คุณลักษณะสำคัญต่อไป ผู้นำผู้รับใช้ต้องมีใจที่เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้พูด เพราะคนพูดต้องการการยอมรับ (To be accepted) การที่ผู้นำมีใจให้แก่คนอื่น ทำให้ผู้นำเกิดความพยายามเสาะหาหาหนทางช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งจะทำให้เกิดการรับใช้ตามมา

Healing
การเยียวยาเป็นคุณลักษณะที่เกิดจากการที่ผู้นำมีใจที่เข้าใจความรู้สึกทุกข์ร้อนของผู้อื่น เมื่อเห็นปัญหา และเข้าใจความจำเป็นของผู้อื่นแล้ว ผู้นำเกิดความรู้สึกอยากช่วยเหลือเยียวยาความทุกข์ยากลำบากของผู้อื่น การรับใช้จะเกิดขึ้น ซึ่งการที่ผู้นำได้รับใช้โดยการเยียวยาให้ผู้อื่นหายจากความทุกข์ยากลำบากจนเป็นอิสระจากปัญหาได้ ความสุขไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับการเยียวยาแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ความสุขเกิดขึ้นกับตัวผู้นำด้วย จริงๆแล้วตัวผู้นำได้รับการเยียวยาจิตใจของตนเองไปด้วยโดยไม่รู้สึกตัว

Awareness
ความตระหนักรู้ คือคุณลักษณะที่ช่วยให้ผู้นำเข้าใจประเด็นและสถานการณ์ได้ละเอียดรอบด้านมากขึ้น ทำให้ผู้นำมองเห็นคุณค่าของการรับใช้แบบองค์รวม (Holistic approach) เพราะความตระหนักรู้ทำให้ผู้นำตื่นตัว รู้สึกอยู่เฉยไม่ได้ ทนต่อเสียงรบเร้าในใจไม่ได้ว่าต้องรับใช้ผู้อื่น ตราบใดยังไม่ได้รับใช้ให้ผู้อื่นมีความสุข ตัวผู้นำยังคงไม่มีความสงบสุขในจิตใจ (Inner serenity)

Persuasion
การโน้มน้าว จูงใจผู้อื่นเป็นอีกคุณลักษณะที่ผู้นำจำเป็นต้องมี เพราะลักษณะของผู้นำผู้รับใช้ไม่ใช้การบังคับ (Coerce) ฝืนใจให้คนอื่นทำ แต่ใช้การเชิญชวนให้ผู้อื่นตัดสินใจ ยอมรับและดำเนินการด้วยความเข้าใจ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี ไม่รู้สึกกดดัน มีอิสระ และมีความสุขในการปฏิบัติตามคำเชิญชวนของผู้นำผู้รับใช้

Conceptualization
ความคิดรวบยอด เป็นอีกคุณลักษณะที่ผู้นำผู้รับใช้ต้องมี เพราะผู้นำผู้รับใช้ต้องเป็นผู้มีความเข้าใจในปัญหาความจำเป็นของผู้อื่น ตัวผู้นำเองต้องมีความสามารถรวบความคิดให้ตกผลึกก่อน จึงจะสามารถเข้าไปรับใช้ผู้อื่นได้ถูกต้อง ถูกทาง ถูกความต้องการ ถ้าผู้นำไม่สามารถคิดไกลไปกว่าข้างหน้า (Think beyond day-to-day) การรับใช้ของเขาจะไม่เกิดผล เพราะจะกลายเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่ปัญหาจริงยังไม่ได้แก้

Foresight
การมองการณ์ไกลเป็นอีกคุณลักษณะที่ทำให้ผู้นำผู้รับใช้เข้าใจใช้บทเรียนจากอดีต ใช้ความจริงในปัจจุบัน นำมาวิเคราะห์ตัดสินใจเพื่อทำสิ่งที่จะเกิดในอนาคต เพราะการรับใช้ที่ดีผู้นำต้องมองไปในอนาคต ต้องไม่ทำให้สิ่งที่ทำในวันนี้เกิดปัญหาในอนาคต 

Stewardship
หาคำแปลที่ได้ความหมายจริงๆของคำนี้ยาก เพราะคนเข้าใจคำนี้ว่าเป็นคำเรียก ผู้ที่ทำงานดูแลผู้โดยสารบนเครื่องบินไปแล้ว แต่รากศัพท์เดิมของคำนี้หมายถึง ผู้ที่กษัตริย์ไว้วางใจให้เป็นผู้รับใช้โดยให้ดูแลจัดการชีวิตของลูกชาย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าฟ้าชาย ให้มีความรู้ ความเข้าใจในขนบธรรมเนียมของราชสำนัก ปฏิบัติตนให้เหมาะสม และมีความพร้อมที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ในอนาคต ผู้นำผู้รับใช้คือผู้ที่ผู้อื่นมีความไว้วางใจ (Trust) ให้ดูแลช่วยเหลือให้มีความรู้ความเข้าใจชีวิต เพื่อเติบโตขึ้น ให้มีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำผู้รับใช้คนต่อไป

Commitment to the growth of people
การทุ่มเทเพื่อความเติบโตของผู้อื่น เป็นคุณลักษณะที่มีคุณค่าภายในใจ (Intrinsic value) ของผู้นำผู้รับใช้ที่เป็นสุขเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้นำทั่วไปที่เห็นผู้อื่นได้ดีแล้วมีความทุกข์ ความยินดีปรีดาของผู้นำที่เห็นความเติบใหญ่ของผู้อื่นทำให้ผู้นำผู้รับใช้มีความรู้สึกรับผิดชอบ มีใจอยากที่จะทุ่มเทในการรับใช้ผู้อื่นมากขึ้น

Building community
เป้าหมายสุดท้ายของการเป็นผู้นำผู้รับใช้คือการทำให้เกิดชุมชนที่เป็นสุข ผู้นำผู้รับใช้จึงต้องมีคุณลักษณะพยายามสร้างชุมชนแห่งความเชื่อที่ต้องการเห็นสันติสุขในการทำงานและการอยู่ร่วมกัน เพราะถ้าทุกคนในชุมชนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด จะเป็นผู้นำ หรือ เป็นบุคลากร หรือเป็นลูกค้า หรือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่างมีความเข้าใจตรงกันที่จะรับใช้ซึ่งกันและกัน ชุมชนของผู้นำผู้รับใช้จะเป็นสังคมแห่งสันติสุข คนในสังคมจะมีความสุข

Stephen Covey กล่าวว่า “All leader development is character development.” ทั้งหมดของการพัฒนาผู้นำ คือการพัฒนาคุณลักษณะ และคุณลักษณะของผู้นำที่ทำให้สังคมมีความสุข คือคุณลักษณะของผู้นำผู้รับใช้

ครับ ถ้าเมืองไทยยังไม่มีผู้นำที่มีคุณลักษณะแบบผู้นำผู้รับใช้ ชุมชนแห่งสันติสุขย่อมไม่เกิดขึ้น สังคมไทยคงต้องอยู่ในความทุกข์ต่อไป

เศร้าใจครับ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น