วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

6 compasses


“Leave the company of ignorant people, and live. Follow the way of knowledge."  Proverbs 9:6

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยท่านหนึ่งเปิดเผยว่า ที่รัฐสภามีการสั่งซื้อโต๊ะกินข้าว หลุยส์สไตล์อิตาเลียน รุ่น "มิเนอร์วา ไดนิ่ง เซ็ท" ราคาชุดละ 1 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยโต๊ะอาหาร ราคา 350,000 บาท และเก้าอี้ 10 ตัว ราคาตัวละ 65,000 บาท อีกทั้งยังซื้อชุดเก้าอี้ "คอฟฟี่ เซ็ท" ซึ่งบุด้วยหนังแท้อีกชุดละ 3 แสนบาท ซึ่งประกอบด้วยเก้าอี้ 2 ตัว ราคาตัวละ 120,000 บาท รวมเป็น 240,000 บาท และโต๊ะกาแฟ ราคา 60,000 บาท โดยทั้งหมดยังถูกหุ้มพลาสติกจำนวนมาก และถูกวางสุมอยู่ที่ริมทางเดิน ข้างห้องคณะกรรมาธิการ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกท่านหนึ่งเปิดเผยเช่นกันว่า รัฐสภาไทยใช้เงินซื้อนาฬิกาติดฝาผนังห้องต่างๆกว่าสองร้อยเรือน โดยนาฬิกาที่สั่งซื้อมาจากต่างประเทศได้ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ราคาเรือนละหลายหมื่นบาท ใช้เงินภาษีชาวบ้านซื้อนาฬิการุ่นนี้ไปประมาณ 8,000,000 บาท และใช้เงินอีก 7,000,000 บาท เป็นค่าติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมนาฬิกาให้เดินตรงกันทุกเรือน รวมแล้วใช้เงิน 15 ล้าน เพื่อให้ท่านผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติดูนาฬิกาได้อย่างสะดวกจะได้เข้าประชุมสภาตรงเวลา
ข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นถึง สถานะ (Status) การเป็นอภิชนของคนมีตำแหน่ง เพราะสิ่งที่ท่านสั่งซื้อมาใช้บ่งบอกระดับความคิดของท่านว่าใช้อภิสิทธิจากสถานะที่ได้รับจากตำแหน่งอย่างไร สะท้อนให้เห็นว่ามีจิตสำนึกที่มีคุณธรรมอยู่ในระดับใด ท่านได้ตระหนักถึงสิทธิและ ผลประโยชน์มากมายที่ทำให้ชีวิตของท่านผู้ทรงเกียรติมีความสะดวก สุขสบายและมีเกียรติในเวลานี้ว่าเป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชนจำนวนมากที่ต้องทำงานหนักและเหนื่อยยาก ต้องต่อสู้กับสารพัดปัญหา และต้องเสียภาษีเงินได้เพื่อเป็นความสุขสบายและเกียรติยศของพวกท่านหรือไม่
อภิชนที่ใช้อภิสิทธิเพื่อแสดงสถานะเกียรติยศและแสวงหาความสุขสบายส่วนตนไม่ได้มีอยู่เฉพาะที่รัฐสภาแห่งเดียวแต่มีทั่วไปตามหน่วยงานอีกมากมายที่ใช้เงินงบประมาณประเทศอย่างด้อยจิตสำนึกที่มีคุณธรรม คิดว่าเป็นสิทธิ เป็นความชอบธรรมตามสถานะของตำแหน่งที่สามารถใช้เงินได้ตามงบประมาณ
ปัญหาเรื่องจิตสำนึกของคนเป็นเรื่องยากที่จะพูดให้เป็นดำเป็นขาว เพราะมันขึ้นอยู่กับพื้นฐานความมีจริยธรรมของแต่ละคน ที่มีมาตรฐานทางจริยธรรมและคุณธรรมที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับภูมิหลังและการหล่อหลอมทางจริยธรรมว่ามีความเข้มข้นเพียงใด แต่สำหรับคนที่อยู่ในสถานะเป็นผู้นำของสังคม เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะผู้นำต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง (Model) ที่ดีให้ผู้อื่นในสังคมได้เห็นจริยธรรมและคุณธรรมในตัวผู้นำ เพื่อจะได้ยึดถือปฏิบัติตาม
ชีวิตของผู้นำต้องมีสิ่งที่ท้าทาย (Challenge) ชีวิตอยู่เกือบตลอดเวลา เพราะเวลาใดที่ผู้นำไม่มีเรื่องที่ท้าทายความสามารถ หรือท้าทายความรักอย่างดื่มด่ำ (Passion) ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อยู่ในความคิดและจิตใจของผู้นำแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำอีกต่อไป เนื่องจากว่ามีคนอื่นที่สามารถทำหน้าที่ได้อยู่แล้ว ความยากของผู้นำจึงอยู่ที่การต่อสู้ในจิตใจตนเองกับสิ่งที่ท้าทายทั้งหลายที่ผู้นำต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต่อสู้กับลาภ ยศ สรรเสริญ ที่ทำให้ผู้นำยากที่จะเอาชนะ ความละโมบ ความอยากมี อยากได้ อยากสุข อยากสบาย อยากมีเกียรติยศ เพื่อผลประโยชน์ของตนและบริวาร เพราะถ้าผู้นำยังไม่สามารถเอาชนะความท้าทายในใจของตนได้สำเร็จแล้ว จะสามารถเอาชนะใจคนอื่นได้อย่างไร
ผู้นำจะต้องมีความกระจ่างชัด (Clarity) ในจุดมุ่งหมาย (Goal) และทิศทาง (Direction) ในการนำของตน เพราะถ้าผู้นำมีจุดมุ่งหมายที่มีความชัดเจน (Clear goal) จะทำให้ผู้นำสามารถกำหนดทิศทางได้ถูกต้อง (Right direction) และจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนจะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายที่ถูกต้อง (Right target) ด้วย
แม้ว่าผู้นำจะมียุทธศาสตร์(Strategy) ที่ดี และมีกระบวนการ (Process) ที่มีประสิทธิภาพ มีกลยุทธ์ (Tactic) เยี่ยมยอดในกิจกรรมต่างๆที่วางแผนทำเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมาย แต่ถ้าผู้นำพ่ายแพ้การต่อสู้ในจิตใจตนเอง ไม่สามารถใช้ความเข้มแข็งทางจริยธรรมและคุณธรรมเอาชนะความท้าทายในจิตใจ เขาจะสูญเสียศักดิ์ศรี (Integrity) ของตนเอง เขาจะสูญเสียความน่าเชื่อถือ (Credibility) ของตนเองต่อผู้อื่น ทำให้เขากลายเป็นคนที่ไม่มีความสัตย์ซื่อ (Honesty) ต่อตนเองและต่อผู้อื่น ยุทธศาสตร์ กระบวนการ และกลยุทธ์ ของผู้นำแม้จะดีเยี่ยมเพียงใดก็ไม่สามารถขับเคลื่อนไปยังจุดมุ่งหมายได้ เมื่อคนไม่ไว้วางใจและหมดศรัทธาในตัวผู้นำ
ผู้นำมีโอกาสกลายเป็นอภิชนได้อย่างง่ายดาย ถ้าผู้นำขาดความชัดเจนเรื่องจุดมุ่งหมาย ทำให้ใช้สถานะผู้นำสร้างอภิสิทธิเพื่อประโยชน์ของตนเองทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทำให้ผู้นำเริ่มเดินหลงทาง เดินผิดไปจากทิศทางที่ถูกต้อง เนื่องจากใจของผู้นำไม่มีความอิสระในการตัดสินใจ เพราะไม่สามารถเอาชนะความท้าทายเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลประโยชน์ส่วนรวมในใจของตน ความเป็นอภิชนรุกคืบเข้าครอบครองความคิดและจิตใจ ทำให้เขาใช้อภิสิทธิอย่างไม่รู้สึกละอายใจอีกต่อไป
John C. Maxwell ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของท่านว่า ผู้นำและทีม จะต้องมีเข็มทิศ 6 ทาง (6 Compasses) ประจำตัวเพื่อทำให้ผู้นำไม่หลงทิศหลงทางในการนำองค์กรทำงานให้ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมาย

Moral Compass (Look above)
เข็มทิศที่ชี้ไปทางเบื้องสูง ให้ผู้นำและทีมรู้จักมองเรื่องบาปบุญคุณโทษ รู้ผิดชอบชั่วดี ให้คิดถึงคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ในสิ่งที่คิดและทำ อย่าได้มองเฉพาะด้านผลตอบแทนทางวัตถุเงินทองผลผลประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว ต้องชั่งใจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและผลกระทบต่อผู้อื่นในระยะยาวด้วย ต้องพิจารณาเรื่องผลดีโดยรวมที่สังคมจะได้รับ ผู้นำต้องแน่ใจว่าการตัดสินใจของตนต้องเป็นสิ่งดี มีคุณธรรม มีความเป็นธรรม และก่อให้เกิดความมีไมตรีแก่ทุกฝ่าย เมื่อทำแล้วไม่ขัดแย้งเป็นศัตรูกัน

Intuitive Compass (Look within)
เข็มทิศที่ชี้เข้าไปภายในใจของตนเองเพื่อให้ผู้นำและทีม ฟังเสียงเตือนภายในใจ (Inner voice) เมื่อต้องต่อสู้กับความท้าทายที่นำไปสู่การลวงล่อ (Temptation) ซึ่งจะทำให้ผู้นำตกหลุมพรางผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่เย้ายวนใจ ถ้าเข็มทิศในใจไม่ทำงาน ผู้นำจะเดินผิดทิศผิดทาง ผลตามมาคือผู้นำจะเริ่มสูญเสียความเป็นผู้นำ คนเริ่มมีข้อสงสัยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้นำ สงสัยในเรื่องความโปร่งใส คนเริ่มระแวงไม่มั่นใจ ความเชื่อถือไว้วางใจในตัวผู้นำลดลง การให้ความร่วมมือจะลดลงตามไปด้วย

Historic Compass (Look behind)
เข็มทิศที่ชี้ไปเบื้องหลัง คือการมองอดีตเพื่อถอดบทเรียนทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นอดีต แล้วนำสิ่งดีมาใช้ (Positive use) ในปัจจุบัน การนำองค์กรไปสู่อนาคตต้องเหลียวหลังกลับไปดูประวัติศาสตร์ขององค์กรด้วย เพราะมีค่านิยม วัฒนธรรมขององค์กรที่ผูกติดความคิดคนในองค์กรอยู่ ผู้นำต้องให้เครดิตแก่ผู้บุกเบิก ผู้เสียสละ ผู้ล้มลุกคลุกคลานในอดีตที่เตรียมทาง (Pave the way) ให้เรา ทำให้ผู้นำรุ่นต่อมาสามารถเดินต่อไปในอนาคตได้ ผู้นำสามารถใช้ค่านิยมของความเสียสละ ความมุ่งมั่นบากบั่นของผู้กล้าในอดีตให้เป็นประโยชน์ในการนำองค์กรปัจจุบันไปสู่อนาคต

Directional Compass (Look ahead)
เข็มทิศชี้ทิศทาง เป็นเข็มทิศที่ชี้ไปเบื้องหน้า ช่วยผู้นำในการมองอนาคต มีวิสัยทัศน์ เพราะวิสัยทัศน์นำไปสู่ทิศทาง จุดมุ่งหมาย นำไปสู่เป้าหมายที่สัมผัสได้ (Vision provides direction, goal brings concrete target) ผู้นำจึงต้องมีเข็มทิศชี้ทิศทาง ที่ชี้ให้มองไปในอนาคตเพื่อสามารถกำหนดทิศทางที่จะเดินไปสู่ความสำเร็จภายใต้การนำของตนในอนาคต

Strategic Compass (Look around)
เข็มทิศยุทธศาสตร์ เป็นเข็มทิศที่ชี้ให้ผู้นำมองสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ จุดอ่อน จุดแข็ง สิ่งคุกคาม และโอกาส ของตนเองและผู้อื่น แบบที่เรารู้จักกันดีว่าทำ SWOT เพราะยุทธศาสตร์ทำให้เกิดกระบวนการไปสู่วิสัยทัศน์ (Strategy brings process to vision) ผู้นำจึงต้องมียุทธศาสตร์ เพราะถ้าไม่มียุทธศาสตร์ก็ไม่มีกระบวนการที่จะทำให้ไปถึงวิสัยทัศน์ได้

Visionary Compass (Look beyond)
เข็มทิศวิสัยทัศน์ เป็นเข็มทิศที่ชี้ให้ผู้นำมองการณ์ไกล มองข้ามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันไปยังสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการมองข้าม Shot เป็นการคิดเรื่องในระยะไกล (Long range) ทำให้ผู้นำมีวิสัยทัศน์ ดังที่ George Washington Carver กล่าวว่า “Where there is no vision, there is no hope. ที่ใดไร้วิสัยทัศน์ที่นั่นไร้ความหวัง ดังนั้นผู้นำจึงต้องมีเข็มทิศวิสัยทัศน์ประจำตัวช่วยทำให้ผู้นำมีไฟแห่งความหวังในใจอยู่เสมอ
Joel A. Barker กล่าวว่า” Vision without action is merely a dream. Action without vision just passes the time. Vision with action can change the world.” วิสัยทัศน์ที่ไม่มีการลงมือทำเป็นเพียงความฝัน การปฏิบัติที่ไม่มีวิสัยทัศน์เสียเวลาเปล่า แต่วิสัยทัศน์ที่มีการลงมือปฏิบัติสามารถเปลี่ยนโลกได้
สังคมไทยต้องการผู้นำที่ไม่ใช่อภิชน ผู้นำที่ไม่ฉกฉวยใช้อภิสิทธิแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและเพื่ออภิชนด้วยกัน
เราต้องการผู้นำที่ดี ผู้นำที่มีเข็มทิศ 6 ทางประจำใจ
ท่านเห็นด้วยหรือเปล่าครับ?

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   

ขอขอบพระคุณ ดร. อำนวย ทะพิงค์แก ที่กรุณาแนะนำให้ใช้คำ “อภิชนนิยม” แทนคำ “ชนชั้นนิยม” ที่ผมใช้แปลคำ “Elitism” ในบทความเรื่อง Meritocracy ที่เขียนฉบับที่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น