“Wisdom is found on the lips of him who has understanding, but a rod is for the back of him who is devoid of understanding.” Proverbs 10: 13
การที่โลกก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ที่มีพื้นฐานของความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีดิจิตัลรองรับ ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อการพัฒนาประเทศ ของประเทศต่างๆทั่วโลก สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ประชาชนมีรายได้สูง มีมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีการศึกษาดี ปัญหาคงไม่มาก แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยและอีกหลายประเทศที่มีปัญหาหลายด้านที่ต้องแก้ไขอยู่แล้ว เมื่อต้องมาเจอกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งใหม่ที่นำโดยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตัล จึงเป็นเรื่องหนักและยากมาก ในการปรับตัวครั้งใหม่ เพื่อให้ประเทศอยู่ในตำแหน่งที่สามารถแข่งขันได้
ต้องยอมรับว่า เรื่องทุนมนุษย์ เป็นปัญหาที่ยากที่สุดของประเทศกำลังพัฒนาอย่าง ประเทศไทย ผลกระทบจากการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังมีปัญหาเรื่องทุนมนุษย์อย่างแน่นอน เพราะเราต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านถึง 4 ล้านคนในการขับเคลื่อนธุรกิจและพัฒนา ประเทศ และยังไม่พบทางออกที่ดีและยั่งยืนในการแก้ไขปัญหานี้ แต่กลับมีแนวโน้ม...ที่ปัญหาเรื่องทุนมนุษย์ของไทยจะยุ่งยากมากยิ่งขึ้นในอนาคต
เพราะโครงสร้างประชากรของประเทศไทยมีสัดส่วนที่น่ากังวลใจ
ปี 2560 เรามีประชากรวัยเด็ก 18% วัยทำงาน 65% และวัยสูงอายุ17%
ปี 2564 เราจะมีประชากรวัยเด็ก 16% วัยทำงาน 64% และวัยสูงอายุ 20%
ปี 2569 เราจะมีประชากรวัยเด็ก 16% วัยทำงาน 60% และวัยสูงอายุ 24%
ปี 2579 เราจะมีประชากรวัยเด็ก 14% วัยทำงาน 56% และวัยสูงอายุ 30%
ถ้าการพยากรณ์นี้เป็นไปตามการคำนวณทางสถิติ อีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 30% ในขณะที่ประชากรวัย ทำงานลดลงเหลือเพียง 56% และประชากรวัยเด็กก็ลดลงเหลือเพียง 14%
สาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์อย่างนี้มาจากการที่คนหนุ่มสาวไทยที่มีการศึกษาดีในปัจจุบันแต่งงานแล้วไม่ยอมมีบุตรมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และจำนวนคนโสดมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่หญิงอยู่กับหญิง และชายอยู่กับชาย ส่วนครอบครัวที่มีลูกก็จะมีลูกเพียง 1-2 คนเท่านั้น
ในกลุ่มเด็กที่เกิดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากประชาชนกลุ่มคนยากจนที่พ่อแม่ไม่ได้รับการศึกษา กลุ่มประชากรชนเผ่า และ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทำให้เด็กแรกเกิดและเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่ไม่สมวัยจำนวนสูงเพราะความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจของครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อไปถึงวัยเรียนด้วย ทั้งระดับเชาว์ปัญญา IQ และวุฒิภาวะทางอารมณ์ EQ อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานสากล ผลการสอบทุกสำนักทั้งในประเทศและต่างประเทศยืนยันแล้วว่า เด็กไทยมีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐานทุกวิชา
ในกลุ่มวัยทำงานที่เวลานี้ก็เป็นปัญหารุนแรงอยู่แล้ว ยิ่งจำนวนประชากรวัยทำงานลดลงอีก ปัญหาจะยิ่งสาหัสมากขึ้นเมื่อประชากรวัยทำงานที่ลดลงต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูประชากรวัยสูงวัยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิวัติ อุตสาหกรรมยุคที่ 4 บนฐานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิตัล จะทำให้กลุ่มวัยทำงานต้องเผชิญกับปัญหาในการฟื้นฟูทักษะ (Reskill) และการปรับทักษะให้สูงขึ้น (Upskill) เพื่อเป็นแรงงานที่มีความรู้ (Knowledge Workers)
ในประชากรกลุ่มสูงวัยจะมีปัญหามากขึ้น เพราะประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินบำนาญจากรัฐบาลเนื่องจากไม่ได้รับราชการ ประชากรกลุ่มนี้ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการออมให้มากเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในบั้นปลาย และรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรสวัสดิการให้ผู้สูงอายุได้ครบถ้วน
ประเทศไทย มีปัญหาเรื่องทุนมนุษย์ ทั้งด้านชุดความคิด (Mindset) และด้านชุดทักษะ (Skillset) มาตลอดเวลาในการพัฒนาประเทศ จากคนในรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Baby Boomer) ที่คนในรุ่นนี้มีชุดความคิดหลักคือการรับราชการเพื่อความมั่นคงในชีวิต ชุดความคิดรองคือทำงานในองค์กรรัฐวิสาหกิจเพราะสวัสดิการดี ส่วนที่เหลือทำงานบริษัทเอกชน หรือค้าขาย เพราะโอกาสในเวลานั้นมีจำกัดเพียงแค่นั้น คนในรุ่นต่อมาคือ Generation X ชุดความคิดของคนในรุ่นนี้ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้จะมีโอกาสมากขึ้น คนรุ่นนี้มีโอกาสศึกษาทั้งในประเทศและในต่างประเทศมากขึ้น แต่ยังคงนิยมรับราชการ ทำงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารสถาบันการเงิน และบริษัทเอกชน ชุดความคิดเพิ่งจะมาเปลี่ยนแปลงในคนยุคต่อมาคือ Generation Y ที่มีความอยากจะเป็นอิสระ เป็นนายของตัวเอง อยากเป็นผู้ประกอบการ อยากประสบความสำเร็จโดยเร็ว
ปัญหาคือ ระบบการศึกษาไทยไม่ได้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอย่างรวดเร็ว เพราะโรงเรียนและมหาวิทยาลัยยังคงวนเวียนอยู่ในชุดความคิดเดิม ทำให้ระบบการศึกษาไทยยังคงสร้างทุนมนุษย์ที่มีชุดความคิดแบบเก่า และมีทักษะแบบเก่า Mindset คือ เรียนเพื่อเอาใบปริญญาไว้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และหวังที่จะทำงานสบายมีเกียรติมีหน้าตาทางสังคม ส่วน Skillset คือ มีทักษะที่แคบ ไม่สามารถทำงานตอบสนองตามความต้องการของตลาดแรงงานในวงกว้างได้ ผลที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ เกิดช่องว่างที่เราต้องพึ่งทุนมนุษย์จากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนหลายล้านคนมาเข้ามาทดแทน
สิ่งที่เราเห็นเวลานี้น่าจะเป็นเพียงยอดก้อนน้ำแข็งที่เริ่มโผล่ให้เรามองเห็นบนผิวน้ำทะเลส่วนภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำทะเลก้อนมหึมานั้น จะมีผลกระทบอีกสักเท่าไหร่ ไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ได้ในเวลานี้ แต่รู้ว่าถ้าเราไม่ทำการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง อย่างมียุทธศาสตร์ แก้ไขอย่างเป็นระบบ เราจะมีปัญหารุนแรงมากขึ้นในอนาคตแน่
การศึกษาไทยจึงต้องทำการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อเปลี่ยนชุดความคิดใหม่ และ เพื่อสร้างชุดทักษะใหม่ให้กับทุนมนุษย์รุ่นใหม่ให้รู้จักคิดวิเคราะห์ วางแผนพัฒนา มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดิจิ
ตัล วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม เพื่อจะสามารถแข่งขันได้ ในขณะเดียวกันต้องมีความรู้เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพรักษาชีวิต รู้จักใช้ชีวิตในสังคม อย่างเหมาะสม มีความรู้เรื่องการหาเงินใช้เงินและออมเงินอย่างถูกต้องเหมาะสม มีความสมดุลย์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ประเทศไทยต้องการคนรุ่นใหม่ที่
- คิดถึงสังคมประเทศชาติ มีจิตสาธารณะ ไม่ใช่คิดเพื่อความมั่นคงปลอดภัย และความสุขของตนเองแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจความทุกข์ยากลำบาก ของคนอื่นในสังคม
- คิดสร้างศักยภาพให้แก่ตนเองอย่างเต็มที่เพื่อจะได้ใช้ความสามารถของตนทำงานให้เกิดผลิตภาพที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมประเทศชาติ
- ทัศนคติใหม่ที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น แบ่งปันส่วนเก่งจุดแข็งของตนเองไปบูรณาการกับส่วนเก่งและจุดแข็งของคนอื่น
- มีความสัตย์ซื่อต่อตนเองและสังคม รังเกียจการคอร์รัปชั่น
- มีความรู้และทักษะใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของอาชีพการงานใหม่
- มีจริยธรรมและคุณธรรมในการทำงานและดำรงชีวิต
ปรัชญาการศึกษาใหม่ต้องนำค่านิยมที่เป็นคุณค่าและอัตลักษณ์ของคนไทย มาถักทอใหม่กับความรู้และทักษะที่ต้องการของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องการทักษะทั้งด้านศาสตร์ความรู้วิชาการและเทคโนโลยีซึ่งเป็นทักษะด้านแข็ง (Hard Skills) และความรู้ความเข้าใจตนเองกับการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีคุณค่าและมีความสุขซึ่งเป็นทักษะทางด้านสังคมด้านอ่อน (Soft Skills) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต
สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา และสถาบันทางการเมือง จะมีบทบาทร่วมกันอย่างไรอย่างมีเอกภาพในการสร้างทุนมนุษย์ไทยรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมไทยในอนาคตให้มีความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของประเทศไทย จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเรียนรู้ (Transformation of Learning) และการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม (Transformation of Culture) ด้วย
Stephen Gardiner กล่าวว่า
“The Industrial Revolution was another of those extraordinary jumps forward in the story of civilization.” การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นอีกสิ่งหนึ่งของสิ่งที่ก้าวกระโดดไปข้างหน้าของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ที่คนไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ