วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2559

GDP ที่ต้องคิดเพิ่ม

“Lazy people should learn a lesson from the way ants live. They have no leader, cheif, or ruler, but they store up their food during the summer, getting ready for winter.”     Proverbs 6:6-8

เราได้ยินนักเศรษฐศาสตร์พูดอยู่เสมอว่าประมาณการเศรษฐกิจของประเทศปีนี้จะเติบโตในอัตรากี่เปอร์เซนต์ โดยใช้ Gross Domestic Product หรือเรียกจนติดปากว่า GDP เป็นเครื่องมือในการวัดและเปรียบเทียบ และเรามักได้ยินนักการเมืองอวดอ้างบ่อยๆว่า สามารถว่าทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตได้โดยอ้างเจ้า GDP อีกเช่นกันว่าเศรษฐกิจเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์  รวมทั้งองค์การ สถาบันการเงิน และเศรษฐกิจทั้งหลายต่างใช้ GDP เป็นมาตรฐานการวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติคิดจากผลรวมของการบริโภค( Consumption) ภายในประเทศ การลงทุน (Investment) และการใช้จ่ายงบประมาณ ของรัฐบาล บวกตัวเลขการส่งออก และลบตัวเลขการนำเข้า ได้ตัวเลขออกมาคิดเป็น เปอร์เซนต์ ว่าเติบโตขึ้นหรือลดลงกี่เปอร์เซนต์ โดยทั่วไปจะนำตัวเลขไปวิเคราะห์ เปรียบเทียบว่า เศรษฐกิจประเทศอยู่ในสภาพอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านไป หรือเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

มาในระยะหลังๆนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย ประเทศในยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น ต่างมีตัวเลข GDP ต่ำติดต่อกันหลายปี จึงมีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง หลายคนเช่น  Joseph Stiglitz, Michael Spence และ Amartya Sen เริ่มตั้งคำถาม เกี่ยวกับการใช้ตัวเลข GDP ว่า นอกจากใช้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจในมิติแบบที่ใช้ วัดกันมาหลายสิบปีแล้ว การวัด GDP น่าจะสะท้อนอะไรได้มากกว่ามิติเดิมๆหรือเปล่า เนื่องจากว่าบริบทโลกในปัจจุบันมันเปลี่ยนไปจากเดิมมากและเปลี่ยนแปลงอย่างรวด เร็วด้วย โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวทางตัวเลขประชากร ที่มีการเคลื่อนย้ายไปมาตลอดเวลา รายได้ของประชากรที่สูงขี้นอย่างไม่เท่าเทียมกัน และการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม


เราเข้าใจและรับรู้กันมานานแล้วว่า ตัวเลข GDP มีความเชื่อมโยงกับบริบทสภาพแวด ล้อมของประเทศ เช่น คุณภาพการศึกษา คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน การทำงาน ของกลไกตลาด การว่างงาน และ เรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง แต่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ ได้เริ่มคิดไปไกลกว่ามิติที่เคยใช้วัด GDP กัน (Beyond GDP) คือสนใจมุมมองในมิติ เรื่อง สวัสดิภาพ (Welfare) ความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศมากขึ้น เช่น

การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีผลต่อการสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติอย่างไร ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือไม่ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ดีขึ้นหรือไม่ และ
เทคโนโลยีที่นำใช้ช่วยทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นมิตรกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมหรือไม่

ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่การวัด GDP ที่ผ่านมาไม่เคยนำมาคิดพิจารณา แต่จากนี้ไปคงต้อง คิดในมุมมองใหม่เพิ่มขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ สภาพสิ่งแวดล้อมทางกายภาพกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผล
กระทบทั่วโลก


เรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังในการใช้ GDP เป็นเครื่องมือวัดการเติบโต ทางเศรษฐกิจ คือจะต้องพิจารณาด้วยว่ากระบวนการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมและมีส่วนได้รับผลประโยชน์ (Inclusiveness) หรือไม่ โดยจะต้องพิจารณาด้วยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเป็นมิตรเกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ การลงทุนทางเทคโนโลยีได้ช่วยทำให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้นหรือไม่ และการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ช่วยสนับสนุนให้โลกนี้มีพื้นที่ สีเขียวเพิ่มขึ้นหรือไม่

ต่อไปนี้คือคำถามในการวัด GDP ซึ่งในเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้คำนึงถึงประเด็นเหล่านี้

การเติบโตนั้นยุติธรรมหรือไม่ Is growth fair?


การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive growth) เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะปรากฎว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจและการพัฒนา OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) ประเทศส่วนใหญ่ยังคงมีความไม่เท่าเทียมกัน (Inequality) ทางเศรษฐกิจสูง ประเด็นที่ต้องพิจารณาทำการแก้ไขคือ เรื่องการศึกษา เรื่องอาชีพ การงาน และเรื่องโอกาสที่เท่าเทียมกันของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศจะ ทำอย่างไร ทื่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น 

นักวิจัยของ IMF และ OECD เริ่มศึกษาและวัดผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อ การทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจช้าเพราะมีผลทำให้ประชาชนมีการบริโภคต่ำ (Lower consumption) และในกรณีที่มีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ มากๆอาจจะทำให้เกิดความไม่สงบทางสังคมขึ้นได้ ดังเช่นที่เราได้เห็นปรากฏการณ์การ ลุกฮือของชาวอาหรับที่เรียกว่า Arab Spring มาแล้ว และการแสดงออกซึ่งความไม่พึงพอใจของประชาชนอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงไม่ควรมองเฉพาะมุมมองผลผลิตมวลรวมว่า ผลิตได้มากเท่าไหร่ (How much is produced?)  แต่ต้องดูด้วยว่าผลที่ได้จากการผลิตได้ถูกกระจายอย่างไร? (How the gains are distribututed?) และการเติบโต ทางเศรษฐกิจได้ทำให้มาตรฐานชีวิตของคนส่วนใหญ่ ดีขึ้นหรือไม่ คนกลุ่มน้อยได้รับผลประโยชน์จากการผลิตมากกว่าคนกลุ่มใหญ่หรือไม่ รวมทั้งต้องดูด้วยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นมีความเป็นธรรมกับคนในรุ่นต่อไปหรือไม่ เช่นมีการสร้างภาระหนี้สินจำนวนมากให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไปในอนาคตหรือเปล่า เพราะในเวลานี้ระบบสวัสดิการเงินบำนาญที่จ่ายให้แก่ผู้เกษียณการทำงานของรัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลก กำลังจะล้มละลายเพราะไม่มีเงินพอจ่ายในอนาคต

การเติบโตนั้นเป็นสีเขียวหรือไม่? Is growth green?

วิธีหนึ่งที่จะมั่นใจได้ว่าเราไม่ได้ใช้ชีวิตบนเงินของอนาคตคือการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานการเป็นเศรษฐกิจสีเขียวให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เราไม่สามารถดูการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉพาะ ด้านการผลิตว่าเราผลิต ได้เท่าไหร่? แต่ต้องดูว่าเรามีกระบวนการผลิตอย่างไรด้วย และกระบวนการผลิตของเราได้สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติหรือไม่? คือต้องพิจารณาดูวงจรการผลิต ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ว่ามีส่วนหนึ่งส่วนใดที่สร้างผลกระทบทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า?

ตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยเวลานี้คือเรื่องการบุกรุกที่ดินป่าไม้ทำลายธรรมชาติเพื่อปลูกพืชผลการเกษตร จนพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายเกือบหมดประเทศแล้ว การเผาพื้นที่เพื่อเตรียมการเพาะปลูกในฤดูต่อไป ทำให้เกิดความร้อนและหมอกควันกระจายคลุมเมือง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลและประชาชนต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมหาศาลต่อปี และอาจมีคนป่วยเป็นมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลต้องใช้เงินภาษีประชาชนจ่ายเป็นค่ายาค่ารักษาประชาชนที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาล หรือประชาชนที่ต้องควักเงินซื้อยาเอง หรือต้องลาหยุดงานเพราะแพ้ฝุ่นละออง หรือ รัฐบาลต้องเสียเงินงบประมาณใช้เครื่องบินและเจ้าหน้าที่ทำฝนเทียม เพื่อช่วยลดพื้นที่ที่เกิดไฟเผาป่า เป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ไม่นับมูลค่าทางจิตใจที่ประชาชนมีชีวิตที่ไม่เป็นปกติสุขในช่วงที่หมอกควันปกคลุมเมืองสองสามเดือน บริษัทที่ทำธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงจรการบุกรุก พื้นที่ป่า และการเผาป่า จะมีส่วนรับผิดชอบอย่างไรบ้างในฐานะที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการบุกรุกป่าและเผาป่าทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จนเกิดหมอกควันเป็นประจำทุกปี


ถ้าเราคิดอย่างให้ความเป็นธรรมต่อลูกหลานของเราจะมองเห็นความโหดร้ายอำมหิต อย่างมากที่ซ่อนอยู่ในธุรกิจนี้ เพราะการสร้างผลกำไรบนธุรกิจนี้ไม่ได้เพียงทำร้ายคนที่ได้รับผลกระทบในเวลาปัจจุบัน แต่กำลังทำร้ายโอกาสและชีวิตของลูกหลานของเราในอนาคตไปแล้ว ลูกหลานของเราจะอยู่อย่างไร ในอนาคตเมื่อประเทศไม่มีป่าไม้สีเขียว ไม่มีน้ำใสสะอาดในแม่น้ำ ไม่มีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ แล้วลูกหลานของเราในอนาคต จะต้องสูญเสียเงินอีกมากมายมหาศาลเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้ดีกลับคืนมา เรากำลังบริโภคกันอย่างสิ้นคิดโดยไม่ได้คิดถึงชีวิตของลูกหลานเราในอนาคตเลยหรือ?

การเติบโตนั้นทำให้ชีวิตเราดีขึ้นหรือไม่? Is growth improving our lives?

รูปแบบการทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรมสามารถกระทำได้ถ้าจิตใจของเจ้าของธุรกิจมีธรรมะ จิตใจที่มีธรรมะย่อมมีเมตตา และจะเกิดความรู้สึกบาปที่ทำร้ายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและทำร้ายเพื่อนมนุษย์ การทำธุรกิจสามารถทำธุรกิจบนพื้นฐานการสร้างเศรษฐกิจอย่างแบ่งปัน (Sharing Economy) ได้ ถ้าเจ้าของธุรกิจมีธรรมะในจิตใจ รู้จักคิดถึงความทุกข์ ความสุขของผู้อื่น จะทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม และจะไม่ใช้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจเอาเปรียบพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กที่ด้อยความสามารถทางเศรษฐกิจ บริษัทจะไม่ทำธุรกิจด้วยการแย่งสินค้าอาชีพของผู้ด้อยโอกาสมาทำขายเสียเอง โดยใช้ความได้เปรียบทางความรู้  เทคโนโลยี การเงิน และการตลาด เอาเปรียบจนทำให้พ่อค้าแม่ค้ารายเล็กๆขายแข่งขันไม่ได้ จนต้องเลิกค้าขาย ไม่มีอาชีพทำให้เดือดร้อนกันทั้ง ครอบครัว การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี จึงควรกระจายมูลค่าและคุณค่าให้ทุกภาคส่วน ของสังคมได้รับประโยชน์โดยทั่วถึงกัน เป็นเศรษฐกิจที่เฉลี่ยความสุขให้กับสังคม ไม่ใช่เศรษฐกิจที่สร้างความได้เปรียบให้คนกลุ่มน้อย และเฉลี่ยความทุกข์ยากลำบากให้คนส่วนใหญ่ในสังคมที่ด้อยโอกาสกว่า อย่างที่พวกเรากำลังประสบในสังคมไทยเวลานี้


บทสรุปของเรื่องที่เขียนวันนี้ไม่ได้หวังว่ามหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่จะกลับใจเหมือนมหาเศรษฐีระดับโลกหลายคนที่เมื่อเขาร่ำรวยมีเงินมหาศาลแล้ว เขาสำนึกถึงความรับผิดชอบที่เขาต้องมีต่อสังคมและธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของโลก แล้วบริจาคเงินจำนวนมหาศาลเพื่อช่วยเหลือสังคม ฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แต่อยากกระตุ้นให้เรามองเห็นความหายนะของประเทศชาติ และความลำบากเดือดร้อนของลูกหลานเราในอนาคต การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้สำคัญที่ตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องคิดถึงความสุขของคนส่วนใหญ่ และอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศด้วย


ขอจบด้วยคำพูดของมหาเศรษฐีใจประเสริฐระดับโลกที่บริจาคเงินจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อช่วยเหลือสังคม Warren Buffett ที่กล่าวว่า “I just think that - when a country needs more income and we do, we're only taking in 15 percent of GDP, I mean, that - that - when a country needs more income, they should get it from the people that have it.” ข้าพเจ้าเพียงแต่คิดว่า เมื่อประเทศต้องการมีรายได้ เพิ่มขึ้น และประเทศเราต้องการจริงๆด้วย เราเพียงให้เพิ่ม 15 เปอร์เซนต์ของ GDP ข้าพเจ้าหมายถึงว่า เมื่อประเทศต้องการรายได้เพิ่มขี้น ก็ควรจะเอาจากคนที่มีให้


ความหมายของท่านมหาเศรษฐี Warren Buffett คือ ถ้าประเทศเงินไม่พอใช้ ให้เรียกเก็บภาษีจากคนรวยที่มีเงินจ่ายเลยครับ

คิดได้ยังไง น่ารักจัง


ปล. ในวาระดิถีปีใหม่ไทย ตามประเพณีคนเมืองเหนือ ขอถือโอกาสนี้สูมาลาโทษ ท่านผู้อ่านด้วย ถ้าได้เขียนอะไรไปแล้วทำให้ท่านไม่พอใจ หรือไม่สบายใจ ขอได้โปรดยกโทษให้อภัยแก่ผมด้วย เพราะอาจจะมีอารมณ์ ความรู้สึกพาไป เวลาเขียนเหมือนกันครับ


แหล่งที่มาความคิด: What is GDP, and how are we missing use it?
World Economic Forum

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559

เรื่องราวของน้ำประเทศสิงคโปร์


The sin of a wicked man are a trap. He gets caught in the net of his own sin. He dies because he has no self-control. His utter stupidity will send him to his grave.” 
Proverbs 5:22-23

    ประเทศสิงคโปร์เป็นเกาะเล็กๆที่มีเนื้อที่ดินเพียงเล็กน้อยที่จะซึมซับกักเก็บน้ำไว้ใช้ เป็นประเทศที่เคยเผชิญ กับความแห้งแล้ง น้ำท่วม และน้ำเป็นมลพิษมาแล้วตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ และต้องใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษในการ แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของผู้นำประเทศ ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ทำเพื่อประเทศชาติ ด้วยความตระหนักถึงความเสี่ยงด้านความมั่นคงของประเทศ ด้วยความเข้าใจและความร่วมมือของประชาชน ทุกภาคส่วน และด้วยการลงทุนศึกษา วิจัย เรื่องระบบน้ำอย่างจริงจัง โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างชาญฉลาด  วันนี้ประเทศสิงคโปร์ได้กลายเป็นประเทศตัวอย่างของโลกที่มีความสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของเมืองได้อย่างยอดเยี่ยม และมีระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต เปลี่ยนประเทศสิงคโปร์จากประเทศที่มีจุดอ่อนอันเปราะบางเรื่องการขาดแคลนน้ำ มาเป็นประเทศที่มีจุดแข็งเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และประเทศมีน้ำใช้อย่างยั่งยืน ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศสิงคโปร์ได้กลายเป็นรูปแบบตัวอย่างการบริหารจัดการเรื่องระบบน้ำของเมือง ที่นานาประเทศทั่วโลกให้ความสนใจมาศึกษาดูงาน เพราะการจัดการบริหารเรื่องน้ำของประเทศสิงคโปร์ ใช้วิธีการบูรณาการผสมผสานหลายวิธี และมีความยั่งยืน (Diversified and Sustainable Supply of Water)

การจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศสิงคโปร์ใช้นโยบาย 4 ก๊อกน้ำแห่งชาติ (Four National Taps)  

1. การเก็บกักน้ำในพื้นที่ท้องถิ่น (Local Catchment Water)
ประเทศสิงคโปร์มีการจัดการน้ำสองระบบที่แยกจากกัน คือระบบการเก็บกักน้ำจากน้ำฝน (Rainwater) ระบบหนึ่ง และระบบการเก็บกักน้ำที่ใช้แล้ว(Used water) อีกระบบหนึ่ง ในระบบการจัดเก็บน้ำฝน จะมี คลอง คู แม่น้ำ หนอง บึง อ่างเก็บน้ำทั้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติและที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้กักเก็บน้ำฝนอย่างเป็นระบบ และทำเป็นเครือข่ายเชื่อมต่อกัน จนกลายเป็นประเทศหนึ่งที่มีปริมาณน้ำจัดเก็บขนาดใหญ่ก่อนการบำบัด ให้สามารถนำไปใช้กินดื่มได้ โดยพื้นที่เก็บกักน้ำของประเทศสิงคโปร์ได้เพิ่มจากครึ่งหนึ่งของพื้นที่ดิน (Land surface) เป็น สองในสามของพื้นที่ดิน และกำลังจัดทำระบบเก็บกักสายน้ำที่อยู่เรียบตามแนวชายฝั่งทะเล ที่อาจมีความเค็มเจือปน โดยใช้เทคโนโลยีบำบัดความเค็มของน้ำ ซึ่งจะทำให้ประเทศสิงคโปร์ สามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 90%ในอนาคต

2. น้ำนำเข้า (Imported Water)
ประเทศสิงคโปร์ต้องซื้อน้ำจากประเทศมาเลเซียมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ โดยมีสัญญาซื้อน้ำจากประเทศมาเลเซีย ไปจนถึงปี 2061 ทั้งนี้ผู้นำประเทศสิงคโปร์ และประชาชน ต่างตระหนักดีว่า นี่คือจุดอ่อนเรื่องความมั่นคงของประเทศ เพราะผู้นำประเทศมาเลเซียในอดีตเคยพูดไว้ว่า เมื่อใดที่ประเทศสิงคโปร์ไม่ให้เกียรติแก่ประเทศมาเลเซีย เมื่อนั้น ก็จะทำการปิดประตูส่งน้ำที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทำให้ประเทศสิงคโปร์ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ประเทศสิงคโปร์จึงต้องดิ้นรนตั้งเป้าหมายให้ประเทศมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอด้วยตนเองก่อนปี 2061 เพื่อไม่ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำนำเข้าจากประเทศมาเลเซียในอนาคต

3. น้ำใหม่ (NEWater)
ประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการนำน้ำที่ใช้แล้วมาบำบัดใหม่ด้วยเทคโนโลยีการกรองและฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงอุตตร้าไวโอเลตจนสะอาดและปลอดภัยใช้บริโภคได้ โดยมีโรงงานบำบัดน้ำใช้แล้วที่เรียกว่า NEWater ขนาดใหญ่ถึง 4 แห่งที่สามารถผลิตน้ำจากการบำบัดน้ำที่ใช้แล้วให้นำกลับมาใช้ใหม่ ตอบสนองความต้องการใช้น้ำของประเทศได้ถึง 30% และยังมีแผนการขยายโครงการที่จะผลิตน้ำระบบ NEWater นี้ให้ได้มากขึ้น ให้สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศให้ได้ถึง 55%  ภายในปี 2060 ระบบการรวบรวมน้ำทิ้งจาก อาคารบ้านเรือน ของประเทศสิงคโปร์นั้นใหญ่มาก เขาสร้างเป็นอุโมงค์ส่งน้ำทิ้งอยู่ใต้ดินยาวถึง 48 กิโลเมตร จนเรียกว่าเป็นซุปเปอร์ไฮเวย์น้ำใช้แล้ว (Used water super highway) และขณะนี้ยังอยู่ในระยะที่สองของการก่อสร้างโครงการทำอุโมงค์ส่งน้ำใช้แล้วใต้ดิน ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2022

4. น้ำทะเลเป็นน้ำจืด (Desalinated Water)
ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่สามารถนำเอาน้ำเค็มจากทะเลมาทำให้เป็นน้ำจืดได้ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง  ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์สามารถผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้ จากโรงงานที่หนึ่ง 30 ล้านแกลลอนต่อวัน (ประมาณ 136,000 คิวบิกเมตร) เป็นประมาณ 10% ของปริมาณน้ำที่ใช้ในประเทศ และจาก โรงงานแห่งที่สองที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2013 ซึ่งสามารถผลิตน้ำจืดได้ 70 ล้านแกลลอน หรือประมาณ 318,500 คิวบิกเมตรต่อวัน ทำให้ทั้งสองโรงงานสามารถผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำของ ประเทศได้ถึง 25%

จะว่าไปแล้วความสำเร็จของประเทศสิงคโปร์ทุกเรื่องเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้นำที่มองเห็นปัญหาและอนาคตอย่างแจ่มชัดของประเทศ รวมทั้งมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะแก้ไขปัญหาของชาติ เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศ บวกกับความมีประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานรัฐบาล ความสัตย์ซื่อและมีธรรมาภิบาลของ ข้าราชการ ความมีจริยธรรมและในการประกอบธุรกิจ และความเสียสละของนักธุรกิจที่ไม่โลภเอาเปรียบประชาชนและประเทศชาติ และความรู้ความเข้าใจของประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ประชาชนมีความสำนึกสูง ทุกหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง

ตัวอย่างของความร่วมมือที่เห็นได้ชัดเจนคือความเข้าใจของประชาชนผู้ใช้น้ำที่เห็นคุณค่าความสำคัญของ ทรัพยากรน้ำ สร้างอุปนิสัยการใช้น้ำอย่างประหยัดในครอบครัวและในที่ทำงาน โดยทางการจะมอบใบประกาศเกียรติคุณแก่อาคารที่มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และ รัฐบาลกำลังรณรงค์ให้คนสิงคโปร์มีการบริโภคน้ำเฉลี่ยต่อหัว(per capita water consumption) ลดลง คือตั้งเป้าให้ภายในปี 2020 ประชาชนสิงคโปร์ จะลดการบริโภคน้ำลงเหลือเฉลี่ย 147 ลิตรต่อหัว และภายในปี 2030 จะลดการบริโภคน้ำลงเฉลี่ยเหลือ 140 ลิตรต่อหัว โดยได้มีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนแต่ละครอบครัว ตั้งเป้าลดการบริโภคน้ำลง 10% หรือ 10 ลิตรต่อครอบครัว เป็นการร่วมมือกันแบบ 3 P (People Public and Private) คือ ประชาชน รัฐ และเอกชน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับทุกคนในประเทศสิงคโปร์ ประชาชนต้องช่วยกันอนุรักษ์ ต้องเห็นคุณค่า และต้องมีความชื่นชมยินดี (Water  for all: Conserve, Value, Enjoy) และการร่วมมือกันของทั้ง 3 ฝ่ายนี้ มีจุดมุ่งหมาย 3 ประการคือ ประการแรก จะทำให้น้ำในประเทศสิงคโปร์ เป็นน้ำที่มีการเคลื่อนไหว (Active) คือ ทำให้แหล่งน้ำ ทั่วประเทศ ไม่เป็นน้ำนิ่ง น้ำเน่า น้ำเสีย มีการขุดลอกจัดการแม่น้ำ คู คลอง ทางส่งน้ำ และ อ่างเก็บน้ำ มีระบบ การบำรุงรักษาให้น้ำไหลได้สะดวก ไม่ตื้นเขิน ไม่มีวัชพืชหรือขยะ กีดขวางการไหลของน้ำ ประการที่สอง จะทำให้น้ำในประเทศสิงคโปร์ เป็นน้ำที่มีความสวยงาม (Beautiful) คือทำให้แหล่งน้ำทุกแห่ง เช่น แม่น้ำ คู คลอง อ่างเก็บน้ำมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม สามารถจัดทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนได้ หรือ จัดทำกิจกรรมนันทนาการ หรือ กิจกรรมกีฬาทางน้ำได้ และประการที่สาม จะทำให้น้ำในประเทศสิงคโปร์ เป็นน้ำใสสะอาด (Clean) คือเป็นน้ำที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อการบริโภค และสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ และ อุตสาหกรรมได้

โครงการรณรงค์ให้ประชาชนมีความตระหนักและเข้าใจความสำคัญของทรัพยากรน้ำได้รับการตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศ มีประชาชนกว่าร้อยชุมชนทำกิจกรรมต่างๆที่สนับสนุนการจัดการให้น้ำในพื้นที่เป็นไปตามเป้าประสงค์ มีโครงการมากกว่า 20 โครงการที่ทำสำเร็จเรียบร้อยไปแล้ว และอีกหลายโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการ

เป้าหมายสุดท้ายของประเทศสิงคโปร์ในเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำคือการทำให้ประเทศสิงคโปร์เป็น ศูนย์กลางน้ำของโลก (Singapore Global Hydro Hub) หมายถึงประเทศสิงคโปร์ จะเป็นประเทศที่มีความรู้ อย่างลึกและกว้างในเรื่องน้ำ ที่ทั่วโลกถ้าอยากจะรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องน้ำๆต้องมาหาที่ประเทศสิงคโปร์ โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะลงทุนอีก 470 ล้านเหรียญให้สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งชาติของประเทศสิงคโปร์ ทำการศึกษาวิจัยพัฒนาเรื่องน้ำและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องเกี่ยวกับน้ำ

ประเทศสิงคโปร์ จากประเทศที่มีอ่างเก็บน้ำเพียงสองแห่งและมีน้ำสำรองใช้ได้เพียง 2 สัปดาห์ วันนี้ประเทศสิงคโปร์ กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงมหกรรมเรื่องน้ำ (Water Expo) ในเดือนกรกฎาคม ปีนี้ ซึ่งจะมี หน่วยงาน บริษัทใหญ่ๆทั่วโลกมาออกร้านแสดงความก้าวหน้าในการจัดการบริหารทรัพยากรน้ำในบริบทต่างๆ และแนะนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ที่ก้าวหน้า ในการบริหารจัดการเรื่องน้ำ ทั้งในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เครื่องจักรอุปกรณ์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ และในเวลาเดียวกันจะมีเวทีประชุมสัมนา เรื่องทรัพยากรน้ำ แน่นอนว่าจะมีนักวิจัย นักวิชาการ นักบริหารนักจัดการเรื่องน้ำระดับผู้นำทั่วโลกมาประชุมด้วย

ดูประเทศสิงคโปร์เขาจัดการเรื่องทรัพยากรน้ำแล้ว อยากเขิญผู้นำประเทศสิงคโปร์มาบริหารประเทศไทย ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย ตอนที่เขาตั้งประเทศสิงคโปร์ใหม่ๆเมื่อปี 1965 ประเทศไทยในเวลานั้นมีป่าไม้ทั่วประเทศ มากกว่า 60% ทุกภูเขาเห็นแต่ป่าไม้เขียวชอุ่มไปทั้งประเทศ ประเทศไทยมีน้ำอุดมสมบูรณ์จนพูดติดปากว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีน้ำเหลือกินเหลือใช้ จะใช้น้ำแบบใช้ทิ้งใช้ขว้างอย่างไร แม่น้ำทุกสาย ก็มีน้ำไหล ตลอดเวลา ไม่มีแห้ง จะปลูกข้าวดำนา จะแข่งเรือ จะลอยกระทง จะเล่นน้ำสงกรานต์ ไม่ต้องกังวล มีน้ำให้ใช้ อย่างเพียงพอตลอดเวลา

ผู้นำของประเทศไทยบริหารประเทศกันอย่างไรไม่รู้ ประเทศสิงคโปร์จากที่ไม่มีน้ำพอกินพอใช้ในอดีต มาเป็นประเทศมีน้ำพอกินพอใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืนในปัจจุบัน แต่ประเทศไทยจากที่มีน้ำใช้อย่างเหลือเฟือในอดีต มาเป็นประเทศวิกฤติน้ำในปัจจุบัน น้ำในเขื่อนใหญ่เขื่อนเล็กทุกเขื่อนเหลืออยู่แค่ก้นเขื่อน แม่น้ำทุกสายแห้งขอดจนลงไปเล่นฟุตบอลได้ เพราะต้นไม้ทุกภูเขาถูกตัดเหี้ยนหมดทั่วประเทศ กลายเป็นภูเขา หัวโล้น ปลูกพืชเชิงเกษตรกรรมไปหมด แถมยังมีควันไฟและฝุ่นละอองจากการเผาป่าปกคลุมไปเกือบครึ่งประเทศ ประเทศชาติเสียหายมากจนนับมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ได้ ทั้งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย อย่างไร้จิตสำนึก ทั้งมนุษย์และสัตว์ถูกทำร้ายเรื่องสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บอย่างไร้ความเมตตา คนเกือบทั้งประเทศกำลังได้รับความเดือดร้อนทั้งกายและใจ ในขณะที่คนกลุ่มเล็กกำลังชื่นชมยินดีกับผลกำไร จากการทำธุรกิจบนความโลภ ใครจะรับผิดชอบ

Henry Kravis กล่าวว่า “If you don't have integrity, you have nothing. You can't buy it. You can have all the money in the world, but if you are not a moral and ethical person, you really have nothing.” ถ้าคุณไม่มีความสัตย์ซื่อ คุณไม่มีอะไรเลย คุณไม่สามารถซื้อมันได้ คุณสามารถมีเงินทั้งโลกได้ แต่ถ้าคุณเป็นคน ไม่มีคุณธรรมและไม่มีจริยธรรม คุณเป็นคนที่ไม่มีค่าอะไรเลยจริงๆ

ใครครับ

ที่มา:The Singapore Water Story : From Vulnerability to Strength
www.pub.gov.sg

ปล. เดือนมีนาคมทั้งเดือนอากาศที่เชียงใหม่เลวร้ายมาก จากหมอกควันที่เผาป่า ผมต้องกินยาแก้แพ้ทุกวัน ครับ