“Everything that happens in this
world happens at the time God chooses” Ecclesiastes 3:1
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาถึงจุดพลิกผันอีกครั้งหนึ่ง
ที่คนไทยจะต้องร่วมกันเรียนรู้และร่วมกันรับผิดชอบ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นไปในทางใด
คนไทยทุกคนได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติของธรรมชาติ
และมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย
สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดมาทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา
10 ปี
หลังนี้มีผลกระทบที่รวดเร็วมากกว่าในอดีต เพราะการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาที่เกิดในสังคมไทยปัจจุบันคือ
การปรับตัวของคนไทยที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้ไม่เท่ากัน คนกลุ่มหนึ่งมีความรู้สึกว่าสังคมไทยต้องทำการปฏิรูปใหม่อย่างเร่งด่วนเพราะการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในทศวรรษที่ผ่านมา
ไม่เท่าทันประเทศอื่นๆที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่า ซึ่งดูได้จากดรรชนีชี้วัดในด้านต่างๆที่หน่วยงานสากลระดับนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันในแต่ละปี
ประเทศไทยถูกลดตำแหน่งลงไปเรื่อยๆ จนประเทศที่เคยล้าหลังกว่าเรา ปัจจุบันได้แซงหน้าประเทศไทยไปแล้วในหลายๆด้าน
สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยก้าวไม่ทันประเทศอื่นๆมาจากหลายปัจจัย ที่ทุกคนรู้แต่ไม่รู้จะแก้ไขกันอย่างไรดี
คือระบบการเมืองที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันมากขึ้นและระบาดแพร่หลายไปทุกระดับ
และการใช้นโยบายประชานิยม ของพรรคการเมืองเพื่อหาคะแนนนิยมโดยไม่ได้คิดคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทุกสังคมและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เป็นเรื่องปกติของทุกสังคม
เพียงแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันเกิดผลกระทบอย่างรวดเร็วขยายวงกว้าง
และมีพลวัตรมากกว่าการเปลี่ยนแปลงในอดีต ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแต่ขยายผลได้ช้ากว่า
ปัจจุบันในโลก Social media เพียงปลายนิ้วสัมผัสการเปลี่ยนแปลงก็เดินทางมาถึง
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพราะมีแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากทั้งภายในประเทศ
(Internal change drivers)
ที่คนรู้สึกว่าสภาพสังคมไทย ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามสภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันต่อไปอีก
สังคมไทยจะแย่ลงเรื่อยๆ เพราะรู้สึกได้ว่าประเทศไทยมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง และ จะมีปัญหามากยิ่งขึ้นในอนาคต
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง และแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก
(External change drivers)
ที่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การค้า การแข่งขันเสรี การเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรม
เทคโนโลยี การเคลื่อนไหวทางการลงทุน และความต้องการของลูกค้า บีบรัดในทุกมิติให้สังคมไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองแรงขับเคลื่อนรอบด้าน
การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยคน
คือ คนเป็นผู้เปลี่ยนแปลง และคนเป็นผู้ถูกเปลี่ยนแปลง และได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลง
เหมือนดังที่ประธานาธิบดี Barack Obama กล่าว่า
“Change will not come if we wait for some
other person or some other time. We are the ones we've been waiting for. We are
the change that we seek.” การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นถ้าเรารอคนอื่นหรือรอเวลาอื่น
เราคือคนที่เรากำลังเฝ้ารอ เราคือการเปลี่ยนแปลงที่แสวงหา
ปัญหาความยุ่งยากที่เกิดขึ้นทุกการเปลี่ยนแปลงมาจากคน
เพราะคนมองและเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันเนื่องจาก
ความตระหนัก
Nathaniel Branden
กล่าวว่า “The first step toward change is
awareness. The second step is acceptance.” ขั้นแรกสู่การเปลี่ยนแปลงคือความตระหนัก
ขั้นที่สองคือการยอมรับ ความยากอยู่ที่ความตระหนักของคนในสังคมไม่เท่ากัน เพราะคนมีมุมมองไม่เหมือนกัน
เห็นความจำเป็นแตกต่างกัน แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้
คนจะต้องมีความรู้สึกว่าสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
(Current state) ยังไม่ดีพอ ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ ยังมีปัญหา
และต้องการไปอยู่ในสถานะอนาคต (Future state) ที่มีสภาพที่ดีกว่าปัจจุบัน
การพยายามเคลื่อนย้ายไปสู่สภาพใหม่ คือกระบวนการเปลี่ยนแปลง (Change
process) ถ้าคนรู้ว่ามีอีกสภาพการณ์ที่ดีกว่าสภาพการณ์ปัจจุบัน
เขาจะเกิดความตระหนักรู้ มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง และตอบรับการเปลี่ยนแปลง
ความรู้
ความรู้จะนำไปสู่ความเข้าใจ
เมื่อคนมีข้อมูลมากเพียงพอทั้งในด้านลึกและด้านกว้าง คนจะเกิดความเข้าใจในสภาพการณ์ที่ตนเองเผชิญอยู่
ซึ่งจะนำให้เขาเกิดความรู้สึกต้องการเปลี่ยนแปลง เหมือนคำกล่าวที่ว่า “Choice”
หรือ
“Chance” การเปลี่ยนแปลงที่ดีควรมาจากการที่คนมีความรู้ว่าตนเองอยู่ในสภาพการณ์ที่ไม่ใช่จุดที่ดีที่สุด
และเลือกทางเลือก (choice) ที่ดีที่สุด
ที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพการณ์ที่ดีกว่าเดิม
ไม่ปล่อยให้สภาพการณ์เปลี่ยนไปตามโอกาส (chance) แล้วแต่มันจะเกิดขึ้น
ดังที่ Henry David Thoreau
กล่าวว่า “Things do not change; we change.”
สิ่งต่างๆไม่ได้เปลี่ยนแปลง
เราต่างหากที่เปลี่ยนแปลง
ความเข้าใจ
ความเข้าใจทำให้คนไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากคนไม่มั่นใจว่าสภาพการณ์ในอนาคตที่การเปลี่ยนแปลงนำไปสู่นั้น
จะปลอดภัยต่อตัวเขาหรือไม่
เพราะยังไม่รู้ว่าสภาพการณ์ใหม่จะมีพื้นที่อยู่อย่างสะดวกสบาย (Comfort
zone) เหมือนที่เขาอยู่ในเวลานี้หรือไม่ ดังที่ Arnold
Bennett กล่าวว่า “Any
change, even a change for the better, is always accompanied by drawbacks and
discomforts.” การเปลี่ยนแปลงใดๆ
แม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่จะมีข้อด้อย และความไม่สะดวกสบายเกิดขึ้นเสมอ
การสร้างความเข้าใจที่ดีที่สุด คือการให้ความรู้ เพราะความรู้จะสร้างความเข้าใจ
ความคาดหวัง
ความคาดหวังเป็นเหตุจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
เพราะเหตุที่คนคาดหวังอยากจะได้สิ่งที่ดีกว่าในอนาคตจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
แต่ในความเป็นจริงไม่มีอะไรที่แน่นอนเสมอไป มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงแต่ผลของการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังทั้งหมดก็ได้
เป็นไปได้ทั้งในด้านดีกว่าที่คาดหวังไว้ และด้านไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
จึงต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องพลวัตรที่มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องหลายด้านหลายมิติ
แม้คนจะมีความคาดหวังแต่เมื่อไรก็ตามที่มาถึงจุดที่คนรู้สึกว่าจะอยู่ไม่ได้แล้วคนจะยอมเปลี่ยน
ดังคำกล่าวของ Robert Anthonyว่า
“When it becomes more difficult to suffer than
to change... you will change.” คุณจะเปลี่ยนแปลง
เมื่อเห็นว่าการไม่เปลี่ยนแปลงมันทุกข์ยากลำบากกว่าการเปลี่ยนแปลง
การยอมรับ
การยอมรับเป็นปลายทางของกระบวนการเปลี่ยนแปลง
ถ้าคนยอมรับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเปลี่ยนแปลงก็สิ้นสุด แต่ถ้าคนไม่ยอมรับ การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะสิ้นสุดโดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นล้มเหลว
หรือยังไม่สิ้นสุด ต้องยืดเวลาออกไปเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมจนคนเกิดการยอมรับในที่สุด
Carl Jung
กล่าวว่า “We cannot change anything until
we accept it.”
เราไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้จนกว่าเราจะยอมรับมัน
การเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรม
ที่ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง
ความแตกต่างอยู่ที่เราจะเป็นผู้เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของเราเอง
ซึ่งเราสามารถเลือกและกำหนดกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีที่เราเลือกได้
หรือเราจะปล่อยให้เป็นไปตามสถานการณ์ แล้วให้โอกาสของการเปลี่ยนแปลงมากำหนดตัวเรา
ซึ่งเราจะไม่มีสิทธิเลือกการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการได้อีกแล้ว Jack
Welch กล่าวว่า “Change
before you have to.” จงเปลี่ยนแปลงก่อนที่คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
ขอปิดท้ายเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้วยคำพูดของ
Leo Tolstoy
ที่กล่าวว่า “Everyone thinks of changing the
world, but no one thinks of changing himself.”
ทุกคนคิดจะเปลี่ยนแปลงโลก แต่ไม่มีใครคิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงเป็น
Everyone thinks of changing
Thailand, but no one thinks of changing himself.
อ่านแล้วชอบ ช่วย Share ให้เพื่อนๆอ่านด้วยนะครับ ขอบคุณ