วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

ผู้นำผู้รับใช้ (2)




Any who love knowledge want to be told when they are wrong. It is stupid to hate being corrected.        Proverbs 12:1

ได้นำเสนอเรื่องความเป็นมาของการเป็นผู้นำผู้รับใช้และคุณลักษณะสำคัญของการเป็นผู้นำผู้รับใช้ให้ท่านได้อ่านพิจารณาไปแล้ว หลายท่านคงมีคำถามในขณะที่อ่านเรื่องผู้นำผู้รับใช้ว่ามีหน่วยงาน องค์กรใด นำแนวคิดนี้ไปใช้ปฏิบัติจริงอย่างได้ผลหรือไม่ เพราะแนวคิดผู้นำผู้รับใช้ ไม่ได้เป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับและใช้ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง และอาจจะรู้สึกขัดแย้งในใจว่า คนที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้โดยทั่วไปมักต้องการความยิ่งใหญ่ของตนเอง (Personal Greatness) ในชีวิต ผู้นำโดยปกติจึงต้องแสวงหาตำแหน่ง (Position) เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ (Power) ที่มาพร้อมกับตำแหน่ง และใช้อำนาจที่ตนได้มาจากตำแหน่งเพื่อการครอบครอง (Possession) สิ่งที่แสวงหามาได้จากการมีตำแหน่งและอำนาจ รวมทั้งใช้อำนาจในการแสวงหา สร้างและรักษาเกียรติยศ (Prestige) ให้แก่ตนเอง และกลุ่มของตน หลักคิดของผู้นำทั่วไปคือ การใช้สิ่งที่แสวงหามาทั้งหมดนี้เพื่อตอบสนองบริการความต้องการของตนเอง (Self-serving) เพราะผู้นำเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Self-centred) ในการคิดและกระทำ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ตรงกันข้ามกับการเป็นผู้นำผู้รับใช้

 


จะเห็นได้ว่าวงจรผู้นำที่แสวงความยิ่งใหญ่ให้ตนเองจะวนเวียนอยู่ในบ่วงของการแสวงหาตำแหน่ง ใช้อำนาจ ครอบครองสิ่งที่แสวงหามาได้ และ ปกป้องรักษาเกียรติยศของตนเอง เพราะหลักคิดของผู้นำเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และต้องการให้คนอื่นเข้ามาปรนนิบัติรับใช้ตัวผู้นำ

ในขณะที่หลักคิดของผู้นำผู้รับใช้ คือการเสียสละตนเอง เพื่อการรับใช้ผู้อื่น (Serving others) เป็นหัวใจสำคัญ โดยจะมุ่งช่วยเหลือให้คนอื่นประสบความสำเร็จ ทำให้คนอื่นได้รับความสุข ดังนั้นผู้นำผู้รับใช้จึงให้ความสนใจที่คน (People) ให้ความสำคัญที่เป้าหมาย (Purpose) ของการรับใช้ผู้อื่น ผู้นำผู้รับใช้จะพยายามคนหาศักยภาพ (Potential) ของคนเพื่อพัฒนาคนไปสู่ความสำเร็จและมีความสุข และผู้นำผู้รับใช้จะมุ่งการรับใช้โดยการปฏิบัติ (Practice) จริงด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นวงจรที่แตกต่างจากผู้นำทั่วไป
 



 

Rick Warren กล่าวไว้ในหนังสือที่ท่านเขียนชื่อ the Purpose Driven Life เรื่อง How real servants act? แนะนำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าการเป็นผู้รับใช้ที่แท้จริงนั้น มีลักษณะการปฏิบัติตนที่น่ายกย่องชื่นชมดังนี้

Make themselves available to serve
ผู้นำผู้รับใช้ต้องเป็นผู้มีจิตใจรับใช้ผู้อื่นเสมอ ใจของผู้รับใช้จะมีความพร้อมและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาที่จะทำให้ผู้อื่นมีความสุข เพราะผู้นำผู้รับใช้จะมองหาโอกาสในการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เนื่องจากความสุขของผู้นำผู้รับใช้คือการได้เห็นความสุขของผู้อื่น และเห็นว่าการได้รับใช้ผู้อื่นคือความสำเร็จในการเป็นผู้นำของตน เมื่อจิตใจของผู้นำผู้รับใช้มีความพร้อมที่จะรับใช้ ความตื่นตัวจะมีอยู่ตลอดเวลา มีความกระตือรือร้น พร้อมอยู่ทุกขณะในการให้บริการรับใช้ผู้อื่น

Pay attention to needs
ผู้นำผู้รับใช้ให้ความสนใจต่อความต้องการของผู้อื่น ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าคุณลักษณะข้อแรกของผู้นำผู้รับใช้คือ การตั้งใจฟัง (Listening) เพราะการฟังอย่างตั้งใจทำให้ได้ยินถึงความต้องการของผู้อื่น ทำให้เข้าใจความจำเป็นของผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ผู้นำผู้รับใช้เกิดความตระหนักรู้ (Awareness) ว่ามีภาระใจที่ต้องทำอะไรบ้างเพื่อรับใช้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ การใส่ใจทำให้ผู้นำผู้รับใช้มีเป้าหมายในการรับใช้ที่ชัดเจน ว่าต้องกระทำอะไรบ้างในการรับใช้ผู้อื่น

Do their best with what they have
การจะรับใช้ผู้อื่นสามารถทำได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีความครบถ้วนเสียก่อน การรับใช้ผู้อื่นเริ่มต้นได้เสมอจากสิ่งที่มี สิ่งที่ทำได้เลย รับใช้ในสิ่งเล็กน้อยก่อน รับใช้ในเรื่องง่ายๆก่อน ผู้นำหลายท่านมักอ้างว่ายังไม่พร้อม ยังไม่มีเวลา ยังไม่มีอำนาจบารมีพอ ยังไม่มีเงินมากพอ ขอรอให้มีความพร้อมมากกว่านี้ก่อนแล้วจะยินดีรับใช้ การคิดแบบนี้ไม่ใช่การคิดแบบผู้รับใช้ เพราะผู้รับใช้จริงๆใจของเขาไม่สามารถรอต่อไปได้อีก เนื่องจากเสียงแห่งคุณธรรมภายในใจ (The inner voice) ของเขาเพรียกร้องให้เข้าไปรับใช้โดยทันที ไม่ต้องรอ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่มีข้ออ้าง ความร้อนรนในใจจะทำให้ดิ้นรน ทำในสิ่งที่ทำได้ก่อน ช่วยทำอะไรได้จะช่วยทำไปก่อน แล้วพระเจ้าจะช่วยท่าน

Do every task with equal dedication
ผู้นำผู้รับใช้ ทำงานทุกอย่างด้วยใจรัก รับใช้ด้วยความพยายามอย่างดีที่สุด งานรับใช้ไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นงานรับใช้ใคร ไม่แบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติ ความเชื่อ ฐานะทางสังคมเศรษฐกิจ เพราะการรับใช้ที่ทำด้วยใจรัก จะรับใช้ด้วยความเต็มใจทุกครั้ง ทุกเวลา ทุกรายการ และ ทุกกรณี การรับใช้ด้วยความเต็มใจ (Stewardship)  เป็นคุณสมบัติของผู้นำผู้รับใช้ เป็นงานที่ละเอียดอ่อน และอยู่บนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ผู้อื่น งานรับใช้จึงเป็นงานที่ทำด้วยใจที่ประณีต

Faithful to their ministry
การรับใช้เป็นการทำพันธกิจ (Ministry) เพราะจุดสูงสุดของการรับใช้คือการช่วยคน ทำให้คนมีความสุข ทำให้คนหายทุกข์ การรับใช้เป็นการเยียวยา (Healing) ให้คนก้าวพ้นจากห้วงทุกข์ การที่ผู้รับใช้เป็นผู้เยียวยาสมานแผลใจที่ทำให้เกิดความทุกข์ ตัวผู้รับใช้เองได้รับผลแห่งการเยียวยานั้นด้วย คือความสุขที่ได้เห็นผู้อื่นหายทุกข์ ผู้รับใช้จึงมีความรับผิดชอบอย่างสูง และมีความผูกพันต่อพันธกิจที่กระทำในการรับใช้ผู้อื่น

Maintain low profile
ผู้นำผู้รับใช้ทำพันธกิจเพื่อรับใช้ผู้อื่นและไม่มีจุดประสงค์เพื่อตัวเอง ดังนั้นผู้นำผู้รับใช้จึงไม่ต้องแสดงตน ไม่ต้องเป่าประกาศให้ใครรู้ว่าได้ทำอะไรรับใช้ช่วยเหลือใครบ้าง ดังที่พระเยซูคริสต์สอนไว้ว่า เมื่อท่านทำทานอย่าเป่าแตรไปข้าง ผู้นำผู้รับใช้จึงไม่โอ้อวดประกาศคุณงามความดีของตน ไม่สร้างภาพแต่เป็นผู้ถ่อมตน เพราะความสุขเกิดจากการได้รับใช้ ไม่ใช่เกิดจากการได้รับคำเยินยอสรรเสริญ ดังที่ Laotzu ปราชญ์ชาวจีนกล่าวว่า “A leader is best when people barely know that he exists” ผู้นำที่ดีที่สุดคือ เมื่อแทบจะไม่มีใครรู้ว่าเขาอยู่เป็นผู้นำของพวกเขา

          Chanakya กล่าวว่า “The leader shall consider as good, not what pleases himself but what pleases his followers.” ผู้นำที่เป็นคนดี ดูได้จากสิ่งที่ทำไม่ได้บริการตนเองแต่บริการผู้ติดตามเขา

แนวคิดผู้นำผู้รับใช้ มีองค์กร และหน่วยงานหลายแห่งที่นำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติจริง และประสบความสำเร็จด้วย แต่ยังไม่แพร่หลายในวงกว้าง

ขอปิดท้ายด้วยคำกล่าวของ Plato ที่กล่าวว่า “He who is not a good servant will not be a good master.” คนที่ไม่เก่งในการเป็นผู้รับใช้ ก็จะไม่เก่งในการเป็นนาย

ท่านพร้อมที่จะเป็นผู้นำผู้รับใช้หรือยังครับ ?