วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

Thailand 4.0 (ตอนที่ 4)


"A good man will receive blessings. A wicked man's words hide a violent nature."
                                                                         Proverbs 10:6 

ตั้งใจเขียนเรื่อง Thailand 4.0 ให้จบใน 4 ตอน จะได้สอดคล้องกับชื่อหัวเรื่องที่เขียน โดยในตอนที่ 4 นี้ ผมขอเน้นเรื่องการศึกษาเพราะเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ไปสู่ Thailand 4.0 ที่ตั้งเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมที่มีนวัตกรรม และ ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน เศรษฐกิจ (Innovation Driven Economy) ถ้าประเทศยังไม่ปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง ไม่เปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ประเทศไทยคงก้าวเดินสู่ Thailand 4.0 ได้ลำบากครับ

ดังที่ได้เขียนเกริ่นนำไว้แล้วใน Thailand 4.0 ตอนที่ 2 ว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบการเรียน การสอนในระบบการศึกษาของประเทศ ไทย คือ วิธีการเรียนต้องเปลี่ยนเป็น

การเรียนรู้แบบ Purposeful learning คือผู้เรียนต้องเรียนแบบมีเป้าหมายในอนาคตของตน (Learning With Purpose) และผู้เรียนต้องเรียนด้วยใจที่รักหลงไหล (Passion) ในสาขาวิชาที่เรียน ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดเรื่องที่สนใจอยากจะเรียน โดยมีครูอาจารย์ผู้สอนเป็นผู้ให้ความ ร่วมมือแก่ผู้เรียน ด้วยการสนับสนุนผู้เรียนให้ได้เรียนรู้สิ่งที่เขาสนใจ ชอบ อยากรู้ อยากเรียน และ อยากทำ

การเรียนรู้แบบ Generative Learning คือผู้เรียนเป็นผู้มีบทบาทนำในการเรียน (Active Learning) ครูอาจารย์ผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitate) ให้แก่ผู้เรียนในการเรียนรู้ เป็นการเรียนแบบคิด (Idea Based Learning) ไม่ได้เรียนแบบท่องจำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะการเรียนแบบท่องจำไม่ก่อให้เกิดความสงสัย ไม่กระตุ้นความอยากรู้ และไม่สร้างความคิดใหม่

การเรียนรู้แบบ Mindful Learning คือเรียนรู้โดยการคิดร่วมกัน สร้างร่วมกัน (Co-Creation) ไม่ใช่เรียนรู้แบบเก่งอยู่คนเดียว (Individual Base) ไม่ได้เรียนรู้แบบแข่งขันเอาคะแนนให้ตัวเองเพื่อเอาชนะคนอื่น (Competitive Base) แต่จะเป็นการเรียนรู้โดยการศึกษาหาความ รู้ร่วมกัน และแบ่งปันความรู้แก่กัน (Sharing Base) เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน เพราะในชีวิตจริง เราไม่สามารถทำงานด้วยตนเองให้สำเร็จได้ทั้งหมดทุกเรื่อง ความสำเร็จเกิดจากการต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น และต้องได้รับการร่วมมือสนับสนุนจากผู้อื่น

การเรียนรู้แบบ Result Based Learning คือเรียนรู้โดยมุ่งผลลัพท์ เรียนรู้ทฤษฏีเพื่อความเข้าใจและนำหลักทฤษฏีไปประยุกต์ใช้ (Theory For Practice) ในชีวิตจริง เป็นการเรียนรู้เพื่อต้องการใช้ผลลัพท์ (Results) ให้เกิดประโยชน์ทั้งในการทำงานเพื่อสร้างประสิทธิภาพ และผลิตภาพให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นในทางเศรษฐกิจ และในการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพทั้งใน ครอบครัวและสังคมส่วนรวม

การเปลี่ยนแปลงโดยการปฏิรูประบบการศึกษาตามความคาดหวังของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ได้กล่าวมานี้ จะทำให้ประชาชนชาวไทยจะมีคุณลักษณะใหม่ คือ เป็นคนที่แสวงหาการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Directed Learner) เป็นคนที่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดขีวิต เมื่อประชาชนมีความรู้ ก้าวทัน ความรู้  และ ก้าวทันเทคโนโลยี คนไทยจะเป็นคนที่ตื่นตัวกระตือรือล้น เป็นพลเมืองที่ขยันขันแข็ง (Active Citizen) คนไทยจะกลายเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการแบ่งปันให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างความแข็งแกร่งและความยั่งยืนให้กับประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีส่วนเป็นผู้ให้ (Engaged Contributors) สังคมไทยในยุคสมัย Thailand 4.0 จะกลายเป็นสังคมที่มีความคิดสร้างสรรค์  เป็นสังคมนวัตกรรม (Social Innovator) ที่คิดและสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

ทั้งหมดนี้จะเป็นความจริงได้ ประเทศไทยต้องทำการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปการศึกษาของประเทศอย่างจริงจัง และต้องรีบทำ ที่ผมกล่าวเช่นนี้ เพราะจะมีสาเหตุปัจจัยภายนอกที่เข้ามาแทรกแซงระบบการศึกษาซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระบบการศึกษา เนื่องจากกระแสความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีที่ค้นพบใหม่ไม่ได้เป็นแบบ Sustaining Technology เหมือนในอดีตที่เทคโนโลยีใหม่ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับเทคโนโลยีเดิม ช่วยทำให้สินค้าหรือบริการเกิดคุณค่ามากขึ้นในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการใช้สอยเกิดประโยชน์มากขึ้น โดยเทคโนโลยีเดิมยังเป็นฐานที่ใช้งานได้ เพียงแต่เพิ่มเติมเทคโนโลยีใหม่เข้าไปก็ทำให้สินค้าหรือบริการมีภาพลักษณ์โดดเด่นมากขึ้น และขายได้ราคามากขึ้น

แต่เทคโนโลยีในยุคใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเวลานี้เป็นเทคโนโลยีแบบ Disruptive Technology คือ เป็นเทคโนโลยีแบบโค่นทำลายเทคโนโลยีเดิม คือจะกวาดตลาดผู้ใช้เทคโนโลยีเก่าทิ้งไปเลย ทำให้สินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีเดิมตกกระแสความนิยม ใช้การต่อไปอีกไม่ได้ เพราะไม่มีใครใช้ และไม่มีใครซื้อ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น เทคโนโลยีกล้องดิจิตอลทำให้บริษัทใหญ่อย่าง Kodak ที่มีอายุยาวนานมั่งคั่งร่ำรวยจากการขายฟิลม์ น้ำยาล้างอัดรูป จากกล้องที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ต้องล้มละลายในที่สุดเพราะเทคโนโลยีใหม่ถ่ายรูปโดยไม่ต้องใช้ฟิลม์ และในเวลานี้กำลังมีเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามากวาดเทคโนโลยีเก่าออกไป เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robot) กำลังจะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ในงานเกือบแทบทุกสาขา หุ่นยนต์ทำหน้าที่ได้แม้กระทั่งการผ่าตัดทางการแพทย์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ( Artificial Intelligence) ทำให้รถยนต์ไร้คนขับวิ่งบนถนนได้จริง และต่อไปอีกไม่นานเกษตรกรจะสามารถใช้รถแทรกเตอร์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ต้องมีคนขับแต่สามารถไถนา พรวนดิน ปลูกพืช เก็บเกี่ยวผลผลิตในพื้นที่เพาะปลูกได้ตลอดวันตลอดคืน และจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆทะยอยตามกันออกมาอีกมากมาย



ในด้านการศึกษาก็มีเรื่อง Disruptive Technology ที่น่าจะมีผลต่อระบบการศึกษาในอนาคต และผมเชื่อว่าจะมีผลต่อการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศไทยในอนาคต คือ

1. Adaptive and Optimized Learning
การเรียนการสอนสามารถปรับเปลี่ยนตามบริบทสิ่งแวดล้อมเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน ปัญหาที่ครูอาจารย์ผู้สอนพบว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการสอนคือความรู้ความสามารถของผู้เรียน ในแต่ละห้องเรียนมีความแตกต่างกันทำให้ยากต่อการสอนในบทเรียนเดียวกัน เพราะผู้เรียนบางส่วนในห้องเรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจบทเรียนได้อย่างรวดเร็ว แต่มีผู้เรียนอีกส่วนหนึ่งในห้องเรียนเดียวกันเรียนรู้ได้ช้ากว่า ปัญหาเรื่องนี้กำลังจะหมดไปเพราะขณะนี้มีเทคโนโลยีของ Knewton ที่เป็นโปรแกรมช่วยจัดการเรียนการสอนให้ครูอาจารย์สามารถจัดการสอนตามความสามารถรายตัว (Customized) ให้แก่ผู้เรียนและสามารถจัดบทเรียน (Tailored Lesson) ให้ผู้เรียนเป็นรายคนได้เลย โปรแกรมนี้ทำให้ครูจัดห้องเรียนแบบมีผู้เรียนผสมผสานกันได้ (Blended Classroom) ได้ คือคนเรียนเก่งกับคนเรียนไม่เก่ง สามารถเรียนห้องเดียวกันได้ เพราะโปรแกรม Knewton สามารถจัดบทเรียนทั้งในด้านเนื้อหาสาระ (Content) และ รูปแบบ (Format) ตามความชอบและวิธีการเรียนของผู้เรียน (Learning Style) ได้ โปรแกรมนี้ยังสามารถจัดการเรียนที่เน้นการพัฒนาทักษะด้านการคิดเชิงวิกฤติ (Critical Thinking Skills) และสามารถบันทึกความก้าวหน้าในการเรียน (Learner's Progress) ของผู้เรียนแต่ละคนได้

2. Education Everywhere
การศึกษาในศตวรรตที่ 21 นี้ จะเป็นการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกแห่ง ดังที่ผมเคยเขียนเรื่องการเรียนระบบทางไกลผ่าน Internet ที่เรียกว่า Massive Open Online Courses (MOOCs) ไปแล้ว ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายสิบแห่งเปิดชั้นเรียนทางไกลให้คนสามารถลงทะเบียนเรียนได้ทั่วโลก ซึ่งมีทั้งวิชาที่เรียนฟรีและหลักสูตรที่เรียนเสียเงิน แต่ค่าลงทะเบียนเรียนระบบทางไกลจะถูกกว่าค่าลงทะเบียนหลักสูตรปกติที่เรียนในห้องเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยมาก เนื่องจากหลักสูตรระบบการเรียนทางไกลมีคนลงทะเบียนเรียนเป็นจำนวนมากเพราะสามารถเรียนได้ทั่วโลก นอกจากหลักสูตรการจัดการเรียนทางไกลของมหาวิทยาลัยต่างๆกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว ยังมีกระแสใหม่ที่มาแรงอีกกระแสหนึ่งคือบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลกที่มีพนักงานบริษัทจำนวนมาก ก็เริ่มเปิดมหาวิทยาลัยของบริษัท (Corporate University) ขึ้นมาเพื่อการพัฒนาบุคลากรของบริษัทตามความต้องการของบริษัทให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาและการเติบโตของบริษัท เป็นการช่วยพัฒนาพนักงานของบริษัทให้มีความรู้ตรงกับความต้องการของบริษัท ทำให้บริษัทไม่ต้องเสียเวลาส่งพนักงานไปเรียนต่อ พนักงานไม่ต้องเสียเวลาทำงาน และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการเรียน 

3. Better Utilize Resource
ระบบการเรียนการสอนในอนาคตจะสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียกว่าเป็นการกลับด้านห้องเรียน (Flipped Classroom) กันเลยทีเดียว เพราะบทเรียนที่เป็นความรู้ทั่วไป ที่สอนในห้องเรียนที่เราเรียกว่าการบรรยาย (Lecture) ที่ผู้เรียนสามารถอ่านเองได้นั้น เป็นกิจกรรมเชิงรับ (Passive Activities) ครูอาจารย์ผู้สอนสามารถมอบให้เป็นการบ้าน (Homework) แก่ผู้เรียน โดยการ Post คำบรรยายของผู้สอน Online ให้ผู้เรียน Download ไปอ่านเองที่บ้าน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลามาบรรยายในห้องเรียน  ส่วนเวลาในห้องเรียนที่ครูอาจารย์ผู้สอนอยู่กับผู้เรียนนั้น จะใช้เป็นกิจกรรมเชิงรุก (Active Activities) โดยครูอาจารย์ผู้สอนจะมุ่งพัฒนาทักษะด้านอ่อน (Soft Skills) ของผู้เรียนคือทักษะเรื่อง การแก้ไขปัญหา (Problem Solving Skills) และทักษะการคิดเชิงวิกฤติ (Critical Thinking Skills) การเรียนการสอนแบบนี้จะทำให้ครูอาจารย์ผู้สอนได้ทำหน้าที่สำคัญ และ ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ มีเวลาให้กับผู้เรียนที่มีปัญหาการเรียนรู้ได้มากขึ้น

4. Interactive Content
ตำราเรียนในห้องเรียนแบบเป็นหนังสือกำลังจะหมดไปเพราะต่อไปสื่อการเรียนการสอนจะมาในรูป Multimedia ใช้เทคโนโลยีที่ผู้เรียนรู้มีส่วนร่วมสามารถตอบโต้ได้ในลักษณะแบบเกมส์ออนไลน์ มูลนิธิ Gates Foundation ได้บริจาคเงินจำนวน 3 ล้านเหรียญสหรัฐให้ MIT Education Arcade เพื่อใช้วิจัยพัฒนาเกมส์ออนไลน์ทางด้านการศึกษา ทำให้ผู้เรียนสามารถเล่นเกมส์เสมือนจริง (Virtual World) เช่นเล่นเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร เป็นนักคณิตศาสตร์ ที่ในเกมส์ที่ต้องทำการค้นคว้า ทดลอง ต้องใช้ความรู้ที่เกี่ยวกับบทบาทในเกมส์ ทำให้ผู้เล่นเกมส์สามารถเรียนรู้วิชาการต่างๆได้จากเกมส์ที่เล่น

5. Connecting With Tutor and Sharing Skills Online
โลกในปัจจุบันเป็นโลกที่เชื่อมต่อกันได้หมดอยู่แล้ว อันที่จริงเวลานี้เราเริ่มได้สัมผัสการแบ่งปันความรู้และทักษะกันบน Internet กันอยู่แล้วโดยผ่านช่องทาง utube เวลานี้ถ้าเราอยากรู้เรื่องใด เราสามารถหาดูได้จาก utube ไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ ทำอาหาร ซ่อมแซมบ้าน เรียนเต้นรำ เรียนดนตรี ออกกำลังกาย ฯลฯ จะมีผู้รู้แบ่งปันความรู้และทักษะให้บน utube ทั้งสอน แนะนำ ทำให้ดู  มีให้เลือกมากมาย แต่ต่อจากนี้ไปอีกไม่นาน โลกจะกลายเป็น Internet Of Things คือทุกสิ่งทุกอย่างอยู่บน Internet หมด การเรียนการสอนต่อไปจะเปลี่ยนเป็น

Anyone to be a teacher  ใครอยากเป็นครูก็เป็นได้ ถ้ามีความรู้ มีทักษะ ท่านสามารถ สอนใครๆก็ได้ เพียงท่านเผยแพร่ความรู้ทักษะของท่านบน Internet ก็จะมีคนมาเรียน เป็นลูกศิษย์ของท่าน

Any place to be a classroom ที่ไหนก็เป็นห้องเรียนได้ ร้านกาแฟ สวนสาธารณะ ห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้างสรรพสินค้า บนเครื่องบิน บนรถไฟ บนรถทัวร์ ขอให้มี WiFi ที่เชื่อม Internet ได้ ก็เป็นห้องเรียนได้

Anybody to be a student ใครก็สามารถเป็นนักเรียนได้ ใครอยากเรียนรู้เรื่องใดก็สามารถ เสาะหาความรู้ทักษะเรื่องนั้นบน Internet เป็นนักเรียนทาง Internet ได้ตลอดเวลา

การเรียนรู้ตามอัธยาศัยอย่างนี้ ทำให้เกิดการเรียนเป็นแบบเพื่อนสอนเพื่อน (Peer to Peer Learning) คือคนที่รู้สอนคนที่ยังไม่รู้ได้ตลอด เวลา คนเรียนเก่งในห้องเรียนสามารถสอนเพื่อนที่เรียนอ่อนกว่าได้ คนเรียนเก่งสามารถทำหน้าที่เป็น Tutor ให้เพื่อนๆ หรือ ให้รุ่นน้องได้ ตามความต้องการ (On Demand Tutoring ) ซึ่งในเวลานี้ก็มีบริการแบบนี้บน Internet แล้ว เช่น   Skillshare,  EduFire และ  Quizlet นักเรียนนักศึกษาที่เรียนเก่งสามารถหาเงินเป็นกอบเป็นกำ ได้จากช่องทางนี้ ครูอาจารย์ที่ยังคิดสอนแบบเดิมๆคงลำบากครับ

Thailand 4.0 จะถูก Disruptive Technology เปลี่ยนโฉมหน้าการทำธุรกิจไปอีกมากมายเพียงใด ในเวลานี้ผมไม่สามารถคาดเดาได้ รู้แต่ว่าการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายอย่างแน่นอน เพราะในประเทศสหรัฐอเมริกาเวลานี้มีโรงเรียนมัธยมศึกษาต้องปิดกิจการปีละประมาณ 1,700 โรง เพราะไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และมีมหาวิทยาลัยขนาดเล็กต้องปิดกิจการ เฉลี่ยปีละ 5 มหาวิทยาลัยเพราะจำนวนนักศึกษาลดลง ผมนึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่าเมื่อถึงเวลาที่ Disruptive Technology เติบโตสุกงอมเต็มที่แล้ว จะมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปิดกิจการปีละอีกกี่แห่ง และผมเชื่อว่าจะมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยต้องปิดกิจการเหมือนที่ประเทศ สหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน

Albert Einstein กล่าวว่า "It has become appallingly obvious that our technology has exceeded our humanity." มันได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เทคโนโลยีของเราได้ก้าวหน้าเกินความเป็น มนุษย์ของเราแล้ว 

Clayton Christensen กล่าวว่า "The reason why it is so difficult for existing firms to capitalize on disruptive innovations is that their processes and their business model that make them good at the existing business actually make them bad at competing for the disruption." เหตุผลที่ทำไมจึงเป็นการยากสำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจอยู่ในปัจจุบันในการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาทดแทน เทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะรูปแบบธุรกิจและกระบวนการทำธุรกิจในปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจที่ทำอยู่ดูดี แต่จริงๆแล้วมันแย่มากเมื่อต้องแข่งขันกับเทคโนโลยีใหม่ 

นั่นแหละครับ หลงติดยึดอยู่กับสิ่งเดิม กว่าจะรู้ตัวก็ถูกกวาดไปเสียแล้ว

สวัสดี Thailand 4.0 

แหล่งที่มา: "5 Disruptive Education Trends that address American Inequality."
               : www.fastcoexist.com