วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

Chuck Feeney เศรษฐีตัวอย่าง



“Wicked people cannot sleep unless they have done something wrong. They lie awake unless they have hurt someone” Proverbs 4:16

Chuck Feeney เป็นชายสูงวัยอายุ 81 ปี ที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนมากนัก เพราะเป็นคนเรียบง่ายใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาทั่วไป แต่จิตใจ ความคิด และการกระทำของชายผู้นี้ไม่ธรรมดา เพราะท่านเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิการกุศล the Atlantic Philanthropies เพื่อบริจาคเงินช่วยเหลือสังคมในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ การแพทย์ ผู้สูงอายุ และสิทธิมนุษยชน ทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เวียตนาม เบอร์มิวดา อัฟริกาใต้ และ ไอร์แลนด์ จำนวนเงินที่บริจาคไปแล้วตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มากมายเท่าไหร่ เพียงแค่ 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ($ 6.2 billion) และตั้งเป้าจะบริจาคอีก 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ($1.3 billion) ภายในปี 2016
Chuck Feeney นับว่าเป็นเศรษฐีที่บริจาคเงินจำนวนมหาศาลมากในขณะที่ยังมีชีวิต มีมหาเศรษฐีในโลกนี้น้อยคนมากที่มีความคิดและจิตใจรักคนอื่นมากกว่าตนเอง และกล้าตัดใจให้เงินช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่รู้สึกหวงแหนเสียดายเงินจำนวนมากมหาศาลของเขาที่บริจาคให้โครงการต่างๆ โดยไม่หวังชื่อเสียงหรือผลประโยชน์อื่นๆตอบแทนจากการบริจาค
Chuck Feeney เริ่มต้นการบริจาคเงินในปี 1984 ในขณะที่คนในโลกกำลังตื่นกระแสการสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งทางทรัพย์สิน (Wealth creation) อย่างรวดเร็วเขากลับโอนหุ้นจำนวน 38.75% ของเขาในบริษัท Duty Free Shoppers ซึ่งเป็นธุรกิจร้านค้าจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีที่ตั้งอยู่ในสนามบินนานาชาติทั่วโลก เพื่อตั้งกองทุนมูลนิธิการกุศล Atlantic Philanthropies ด้วยความคิดและทัศนคติใหม่ในการมองทรัพย์สินที่เขาครอบครองจากการทำงานหนักมาเกือบตลอดชีวิต
 ความคิดในมิติใหม่ของ Chuck Feeney คือเขาสรุปว่า ถ้าเรายังคงยึดติดอยู่กับการกระทำเพื่อตนเอง เราก็จะกังวลอยู่กับสิ่งนั้นเสมอ “I concluded that if you hung on to a piece of the action for yourself you’d always be worrying about that piece.” เหมือนกับคำสอนของพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์ที่กล่าวว่า ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหน ใจของท่านก็อยู่ที่นั่นด้วย “For where your treasure is, there your heart will be also” ความคิดใหม่ทำให้เขามีความรู้สึกว่าเขามีความสุขเมื่อสิ่งที่ทำได้ช่วยเหลือผู้อื่น และรู้สึกไม่มีความสุขเมื่อสิ่งที่ทำไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น I guess I’m happy when what I’m doing is helping people and unhappy when what I’m doing isn’t helping people.”
แนวคิดในการบริจาคเงินของ Chuck Feeney ทำคือการใช้เงินก้อนโตแก้ไขปัญหาใหญ่  (Give big money to big problem) ทำนองเล็กๆไม่ใหญ่ๆทำเพราะเขาคิดว่าการบริจาคเงินจำนวนเล็กน้อยกระจายไปทั่วแบบเบี้ยหัวแตกไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง การให้เงินจำนวนมากเพียงพอเพื่อแก้ไขปัญหาใหญ๋ๆจะได้ประโยชน์และเกิดผลเร็วมากกว่า เพราะเขาต้องการที่จะใช้เงินเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ผู้อื่นในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ให้ลูกหลานตั้งกองทุนมูลนิธิเพื่อเป็นเกียรติหลังจากอำลาโลกนี้ไปแล้ว
ตลอดเวลาที่บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือโครงการต่างๆ เขาปิดบังตนเองไม่ให้ใครรู้ ดั่งคำสอนของพระเยซูคริสต์อีกเช่นกันที่สอนว่า เมื่อทำทานอย่าทำต่อหน้าผู้อื่นเพื่ออวดผู้อื่น “Do not do your charitable deeds before men, to be seen by them” และเมื่อทำทานอย่าเป่าแตรไปข้างหน้า “when you do a charitable deed, do not sound a trumpet before you” ซึ่งแตกต่างจากมหาเศรษฐีทั่วไปที่จะทำการแถลงข่าวประชาสัมพันธ์การบริจาคเงินของตนให้คนทั่วโลกทราบ การบริจาคเงินจำนวนมากให้กับหน่วยงานที่ทำโครงการต่างๆ Chuck Feeney ต้องขอให้ผู้บริหารหน่วยงานที่รับเงินบริจาคจากเขาสัญญาว่าจะปกปิดชื่อเขาเป็นความลับ ซึ่งก็เป็นปัญหาให้กับหน่วยงานที่รับเงินบริจาคเหมือนกัน เพราะกรรมการบริหารหน่วยงานรู้สึกไม่สบายใจที่มีผู้บริจาคเงินก้อนใหญ่ให้โดยไม่เปิดเผยตัวเอง เนื่องจากเกรงกลัวว่าเงินบริจาคจะเป็นเงินที่ไม่สะอาดของผู้ทำธุรกิจผิดกฏหมาย Chuck Feeney เพิ่งยอมเปิดเผยตนเองเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อได้บริจาคเงินจำนวนมากจนตนเองใกล้จะหมดตัวแล้ว
Chuck Feeney เป็น Irish–American เกิดในยุคที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำอย่างรุนแรง (Great Depression) ชีวิตค่อนข้างยากลำบาก ได้เข้ารับใช้ประเทศโดยเป็นทหารอากาศประจำการในช่วงสงครามเกาหลี หลังสงครามได้เข้าเรียนที่ Cornell School of Hotel Administration  เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 1956 ได้เดินทางไปใช้ชีวิตในฝรั่งเศสเพื่อหาประสบการณ์และได้เริ่มทำธุรกิจขายสินค้าปลอดภาษีให้ทหารเรือสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในกองเรือรบประจำมหาสมุทร Atlantic โดยใช้ความเป็นอดีตทหารอากาศอเมริกันเป็นช่องทางได้ข้อมูลและขายสินค้ากับทหารเรือ ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง และต่อมาได้ขยายธุรกิจจากการขายสินค้าปลอดภาษีให้ทหารไปสู่การขายสินค้าปลอดภาษีให้นักท่องเที่ยว โดยตั้งบริษัทขายสินค้าปลอดภาษี ถึงปี 1964 มีร้านสินค้าปลอดภาษี Duty Free Shoppers ใน 27 ประเทศ มีพนักงานประจำ 200 คน
ธุรกิจ Duty Free Shoppers เติบโตและทำกำไรอย่างมหาศาลทำให้ Chuck Feeney เอาเงินกำไรไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆเช่น โรงแรม เสื้อผ้า ห้างสรรพสินค้า และเทคโนโลยี ทำให้เขามีกำไรเพิ่มพูนมากขึ้น จนในปี 1988 นิตยสาร Forbes ได้จัดอันดับให้เป็นเศรษฐีมีทรัพย์สินเป็นอันดับที่ 31 ของสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าทรัพย์สิน 1.3 พันล้านสหรัฐ แต่นิตยสาร Forbes หารู้ไม่ว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเขาได้โอนให้มูลนิธิการกุศล Atlantic Philanthropies ที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคมไปแล้ว
ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองเห็นว่าความรุ่งโรจน์ของธุรกิจ Duty Free Shoppers กำลังจะหมดไป ทำให้ Chuck Feeney เจรจากับหุ้นส่วนของเขาเพื่อขายธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าการเจรจาจะสำเร็จในปี 1997 ทำให้เขาจำเป็นต้องเปิดเผยให้โลกรู้ว่าเขานำเงินส่วนของเขาจากการขายธุรกิจ Duty Free Shoppers มอบให้มูลนิธิการกุศล Atlantic Philanthropies ที่เขาตั้งขึ้น
Bill Gates และ Warren Buffett สองมหาเศรษฐีอเมริกาที่เป็นนักบริจาคเงินชื่อดังได้กล่าวยกย่อง Chuck Feeney ถึงความเสียสละอย่างกล้าหาญในการบริจาคเงินช่วยเหลือสังคม เป็นทั้งแบบอย่างและตัวอย่างของการให้ในขณะที่ยังมีชีวิต (Chuck Feeney is a remarkable role model and the ultimate example of giving while living.) ที่เขาจะต้องเรียนรู้ ถึงวิธีการบริหารงานและวิธีการบริจาคเงินอย่างเกิดผลของ Chuck Feeney เช่นการหาคู่บริจาคสมทบ (Matching Fund) โดยเขาไม่เอาชื่อของเขาปิดที่อาคารในมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาล ที่บริจาคเงินแต่ให้เอาชื่อของผู้บริจาคสมทบติดอาคารแทนเพื่อดึงดูดผู้บริจาคสมทบ
ปัจจุบัน Chuck Feeney ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเหมือนคนทั่วๆไป โดยอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนท์ของมูลนิธิการกุศล และ เดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ไม่มีแม้รถยนต์ส่วนตัว
สิ่งที่ Chuck Feeney อยากฝากให้ผู้บริจาคเงินคือ อย่ารอที่จะมาบริจาคเงินตอนที่มีอายุมากหรือตอนตายไปแล้ว แต่ให้บริจาคเงินตอนที่ยังมีพลัง มีเครือข่ายมิตรสหาย ธุรกิจ ซึ่งเป็นเวลาที่มีบารมีทำให้เงินบริจาคมีพลังอย่างต่อเนื่อง

ต่อไปนี้คือ เรื่องราวบางส่วน ที่ Chuck Feeney ได้บริจาคเงินช่วยเหลือสังคม

1982: บริจาคเงินก้อนแรก จำนวน 7 ล้านเหรียญสหรัฐ แก่มหาวิทยาลัย Cornell

1984: โอนหุ้นจำนวน 38.75% ในบริษัท Duty Free Shoppers ให้มูลนิธิการกุศล Atlantic Philanthropies ที่ตั้งขึ้น

1988: บริจาคเงินเริ่มต้นจำนวน 142,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนสถาบันวิจัยโรคมะเร็ง ยอดเงินบริจาคตลอดโครงการจำนวน170 ล้านเหรียญสหรัฐ

1990: มอบเงินก้อนแรกให้แก่ มหาวิทยาลัย Limerick เพื่อสนับการก่อสร้างสถาบันการวิจัยระดับก้าวหน้า ยอดเงินรวมทั้งหมดของโครงการ 170 ล้านเหรียญสหรัฐ

2001: สนับสนุนงานวิจัยของสถาบันวิจัยชีวการแพทย์ Queensland University of Technology ประเทศออสเตรเลีย จำนวน 320 ล้านเหรียญสหรัฐ

2002: สนับสนุนกองทุนช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ AIDS ใน อัฟริกาใต้จำนวน 117 ล้านเหรียญสหรัฐ

2004: จนถึงปัจจุบัน สนับสนุนการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตนักโทษในสหรัฐอเมริกา จำนวนเงิน 28 ล้านเหรียญสหรัฐ

2008: สนับสนุนเงิน 125 ล้านเหรียญสหรัฐ แก่ศูนย์การแพทย์ ของมหาวิทยาลัย University of California วิทยาเขต San Francisco Mission Bay จำนวนเงินที่มอบให้ทั้งโครงการ 290.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

2008: สนับสนุนมหาวิทยาลัย Cornell ในการพัฒนาวิทยาเขตของ NYC Tech บนเกาะ Roosevelt จำนวนเงิน 350 ล้านเหรียญสหรัฐ

2016: จะบริจาคเงินที่เหลือทั้งหมดจำนวน 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐของมูลนิธิการกุศล Atlantic Philanthropies

2020: ปิดมูลนิธิการกุศล Atlantic Philanthropies

Peter Marshall กล่าวว่า The measure of life is not its duration, but its donation.สิ่งที่วัดชีวิตไม่ใช่ระยะเวลาที่มีชีวิต แต่เป็นสิ่งที่เราได้มอบให้ผู้อื่น

คิดถึงมหาเศรษฐีชาวไทยทั้งหลายที่ทำงานหนักเพื่อนอนกอดทรัพย์สินตาย ในขณะที่ Chuck Feeney ทำงานหนักเป็นสองเท่าเพื่อตายอย่างหมดตัว เพราะเขาบอกว่าบนสวรรค์ไม่มีธนาคาร และถุงใส่ศพก็ไม่มีกระเป๋าให้ใส่เงิน

Chuck Feeney is working double time to die broke

 

ที่มา: Steven Bertoni, www.forbes.com